นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Sussex ค้นพบว่าพืชบางชนิดสามารถผลิตสารคาเฟอีนผสมอยู่ในน้ำหวานของเกสรดอกไม้ เพื่อหลอกล่อให้แมลงที่มาตอมรู้สึกว่าน้ำหวานนั้นมีน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณที่มากกว่าความเป็นจริง
และทำให้แมลงที่ได้ชิมรสน้ำหวานของดอกไม้ชนิดนั้นจะวนเวียนกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งช่วยกระจายเกสรดอกไม้ออกไปได้อย่างเต็มที่
นักวิจัยทดสอบด้วยการสร้างดอกไม้เทียมขึ้นมา 2 ชุด และติดตั้งอุปกรณ์ปล่อยน้ำหวานเทียม 2 แบบที่ดอกไม้เทียมนั้น โดยแบบแรกผสมคาเฟอีนและอีกแบบไม่ผสม
ศาสตราจารย์ Francis Ratnieks จากมหาวิทยาลัย Sussex ผู้นำงานวิจัยที่ว่านี้ กล่าวว่าจากการทดสอบ พบว่าผึ้งจะชอบมาตอมน้ำหวานที่ผสมคาเฟอีนมากกว่า โดยนักวิจัยได้ติดหมายเลขให้กับผึ้งที่ดูดน้ำหวานผสมคาเฟอีนเข้าไป จากนั้นปล่อยผึ้งทั้งหมดกลับสู่รวงของมัน
ศาสตราจารย์ Francis Ratnieks ชี้ว่า ผึ้งที่ดูดน้ำหวานผสมคาเฟอีนเข้าไปจะเคลื่อนไหวหน้าท้องของมันในลักษณะเฉพาะหรือที่นักวิจัยเรียกว่า “เต้นรำ” มากกว่าปกติราว 4 เท่า การเต้นรำคือการสื่อสารแบบหนึ่งของผึ้ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผึ้งตัวอื่นๆในรัง
ต่อมานักวิจัยพบว่าผึ้งหลายตัวถูกสั่งการให้กลับไปเยี่ยมแหล่งที่พบน้ำหวานผสมคาเฟอีนนั้นบ่อยครั้ง แม้ว่าน้ำหวานจะเหือดแห้งไปแล้วก็ตาม
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า ฝูงผึ้งถูกทำให้คิดว่าน้ำหวานผสมคาเฟอีนเป็นน้ำหวานคุณภาพสูง และมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าความเป็นจริง
นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อด้วยว่าพืชที่สามารถผลิตสารคาเฟอีนออกมาผสมกับเกสรได้นั้น ใช้คาเฟอีนในการควบคุมผึ้งให้ทำในสิ่งที่เป็นผลดีต่อพืชหรือดอกไม้เหล่านั้น แม้อาจจะไม่เป็นผลดีนักต่อฝูงผึ้งเอง
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ปกติแล้วดอกไม้และหมู่ภมรจะเป็นอิสระต่อกัน คือไม่สามารถบังคับกันและกันได้ แต่ในบางครั้งประโยชน์ที่เกิดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อาจส่งผลเสียต่ออีกฝ่ายได้เช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Jeff Custer มีรายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)