วารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ Science ประกาศผลงานทางวิชาการของนักวิจัยที่ช่วยบุกเบิกความรู้ใหม่ๆ ของปีนี้ โดยการค้นพบแห่งปี “Breakthrough of the Year” ตกเป็นของการคิดค้นเทคนิคตัดแต่งหน่วยพันธุกรรม ที่เรียกว่าเทคนิค CRISPR ซึ่งทำให้ตัดแต่งหน่วยพันธุกรรมได้ง่ายขึ้นและมีผลกว้างไกลกว่าเดิม
เดิมทีเทคนิคก่อนหน้านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน่วยสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่เทคนิคใหม่สามารถทำให้พันธุกรรมที่ถูกดัดแปลงเปลี่ยนลักษณะของสายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์ หากว่านำไปใช้กับยุง เทคนิคนี้อาจช่วยให้เราสามารถกำจัดโรคไข้มาเลเรียได้
วารสาร Science ยังได้ยกย่องการคิดค้นวัคซีนต้านเชื้ออีโบลา ที่ถูกทดลองในลิงและมีความเป็นได้สูงที่จะประสบความสำเร็จในมนุษย์
Robert Coontz จากกองบรรณาธิการของ Science กล่าวว่าโอกาสที่วัคซีนนี้สามารถป้องกันอีโบล่าได้มีสูงราว 75 ถึง 100 เปอร์เซนต์
ในปีนี้วงการแพทย์ยังค้นพบว่าระบบต่อมน้ำเหลืองที่เป็นเส้นทางสัญจรของเซลล์เม็ดเลือดขาวเชื่อมต่อกับระบบสมองของมนุษย์ซึ่ง นักวิทยาศาตร์คิดว่าความรู้นี้อาจในไปใช้หาทางรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วยวิธีทางระบบประสาท
สำหรับการสำรวจอวกาศ Science ชื่นชมความสำเร็จของยาน New Horizons ที่เดินทาง 9 ปีครึ่งเป็นระยะทาง 5 พันล้านไมล์ถึงดาวพลูโต และเก็บภาพพื้นผิวของดาวที่เป็นไนโตรเจนแข็งได้
ขณะเดียวกันการที่ NASA ค้นพบดาวเคราะห์แคระ Ceres ที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัส ก็ถือเป็นผลงานที่สำคัญ
และการค้นพบมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่ Homo-naledi ในแอฟริกาใต้ ช่วยให้เราได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการมนุษย์ โครงกระดูกของ Homo naledi ชี้ว่ามนุษย์ตระกูลนี้เป็นสายพันธุ์ที่ยืนหลังตรง แต่ลักษณะนิ้วมือที่ยาวทำให้ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า มนุษย์พันธุ์นี้ยังคงปีนป่ายต้นไม้เหมือนลิง
ท้ายสุดวารสาร Science ชี้ว่าปีนี้มีความผิดหวังครั้งใหญ่ นั่นก็คือการทำลายมรดกโลกหลายแห่งโดยกลุ่มรัฐอิสลามไอเอส
(รายงานโดย Rosanne Skirble / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)