Your browser doesn’t support HTML5
ทุกปีมหาวิทยาลัยไทยจะร่วมงานมหกรรมการศึกษานานาชาติที่สหรัฐฯ ซึ่งจัดโดย NAFSA องค์กรการศึกษาระดับโลก และในปีนี้สถานที่จัดงานอยู่ในนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย
จุดประสงค์หลักของสถาบันไทยเหล่านี้คือการทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก และยกระดับความร่วมมือกับสถาบันต่างชาติที่มีอยู่แล้ว
ปีนี้จำนวนสถาบันของไทยที่จัดซุ้มมีน้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา ตัวแทนจากประเทศไทยจึงพยายามใช้โอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักการศึกษาไทยเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนของนักศึกษาที่ได้มีโอกาสเข้าโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
ดร. วิลาสินี วงศ์แก้ว ผู้ช่วยคณะบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn Business School ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยที่งาน NAFSA ว่า นักเรียนที่เข้าโครงการแลกเปลี่ยนเก่งขึ้นในเรื่องการแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน และมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
ปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้มีนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศในโครงการแลกเปลี่ยนประมาณ 100 คน
และเมื่อได้ถามทัศนะจากฝั่งธรรมศาสตร์ที่ส่งตัวแทนมาเปิดบู๊ธที่ NAFSA เช่นกัน พบว่ามุมมองเป็นไปในทางเดียวกันกับ ดร. วิลาสินี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองคณะบดี Thammasat Business School กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่นักเรียนยุคปัจจุบันต้องพัฒนาตนเองให้ทันโลกธุรกิจ ที่มีแง่มุมการติดต่อสื่อสารต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการสนับสนุนโอกาสของนักศึกษาสถาบันจึงให้ทุนผู้ที่เข้าโครงการแลกเปลี่ยน 5 ทุนต่อปี
ขณะเดียวกัน สำหรับนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ทุนและยังอาจติดขัดในเรื่องค่าใช้จ่าย ดร. วิลาสินี แห่ง Chulalongkorn Business School กล่าวว่า ยังมีความพยายามอีกรูปแบบหนึ่งของคณะ นั่นก็คือการสร้างความเป็น ‘อินเตอร์’ ที่หลักสูตรในประเทศไทย ผ่านการเรียนรู้จากนักเรียนต่างชาติในไทย ซึ่งมีประมาณ 120 คนที่คณะของ ดร. วิลาสินี
โครงการแลกเปลี่ยนไม่จำกัดอยู่ที่การศึกษาด้านการบริหารธุรกิจเท่านั้น เพราะคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นเรื่องนี้ และส่งตัวแทนมาร่วมงาน NAFSA ด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย จาก Chula International School of Engineering บอกเราว่า ที่คณะให้เงินสนับสนุนค่าเดินทาง 30,000 บาทต่อนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
ดร. เดวิด กล่าวว่า ขณะนี้มีมหาวิยาลัยคู่สัญญาในสหรัฐฯ ที่สำคัญสองแห่งคือ Dartmouth College ในรัฐนิวแฮมเชอร์ และ Case Western Reserve University ในรัฐโอไฮโอ
ท้ายสุด ดร. สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล จากธรรมศาสตร์ แนะนำถึงการเตรียมตัวไปเรียนโครงการแลกเปลี่ยนว่า ควรมีความพร้อมทั้งด้านภาษาและการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ แม้ว่าเรื่องวิชาการของนักเรียนไทยจะเทียบได้กับนักเรียนนานาชาติก็ตาม
(รัตพล อ่อนสนิท รายงานจากงานประชุม NAFSA นครฟิลาเดลเฟีย)