เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยสามแห่งเข้าร่วมงาน NAFSA ซึ่งเป็นมหกรรมการศึกษาต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก โดยในครั้งนี้ 'นครลอสเเองเจลิส' แหล่งรวมนักศึกษาจากเอเชีย ถูกใช้เป็นสถานที่จัดประชุม
ผู้บริหารสถาบันไทยจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล คือกลุ่มนักการศึกษาที่มาสร้างเครือข่ายใหม่ๆ และต่อยอดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรเดิมจากต่างประเทศ ที่การประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด กว่า 9,000 คนจากทั่วโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีฝ่ายกำกับดูแลด้านวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับว้อยซ์ออฟอเมริกา ภาคภาษาไทยว่า เครือข่ายที่สำคัญเครือข่ายหนึ่งของสถาบันคือกับกลุ่มมหาวิทยาลัยในเอเชียด้วยกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 'Asia University Alliance'
แนวทางดังกล่าวถือเป็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อมกับชื่อเสียงของสถาบันในเอเชียที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางกว่าเดิม และการทำการตลาดเชิงรุกของสถาบันการศึกษาในเอเชีย
ในช่วงหลายปีติดต่อกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย อย่างเช่น กลุ่มพันธมิตรของมหาวิทยาลัยในฮ่องกง ใช้เวทีการประชุม NAFSA ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการเลี้ยงสำหรับแขกนับร้อย เพื่อประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยของประเทศตน
ความร่วมมือที่เข้มแข็งขึ้นในเครือข่ายการศึกษาของเอเชีย และความเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ทำให้ตัวเลือกการไปเรียนต่อหรือเรียนในโครงการแลกเปลี่ยนในเอเชีย มีจุดดึงดูดนักศึกษาของประเทศไทยในแง่มุมใหม่ๆ อย่างเช่น การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมที่สาม ในหลักสูตรภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีนเป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุปรีดี ฤทธิรงค์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับวีโอเอไทยที่การประชุม NAFSA ว่า คุณภาพการศึกษาของสถาบันอันดับต้นๆ ของเอเชีย ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกา
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยในเอเชียด้วยกันเอง ช่องว่างเรื่องการยอมรับจากนานาชาติยังคงมีอยู่
ตัวอย่างเช่น ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดยสถาบัน QS มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์หรือ National University of Singapore (NUS) ติดที่ 12 ส่วน มหาวิทยาลัย Nanyang Technology University (NTU) อยู่ที่อันดับ 13 นำหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งติดอันดับ 252
โดยที่จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับสูงสุดในกลุ่มสถาบันไทย ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดลติดอันดับ 283 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่กลุ่มอันดับ 601 ถึง 650 ตามรายงานปีล่าสุดของ QS
อุปสรรคของการสร้างความสามารถในการแข่งขันของสถาบันไทยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ถูกสะท้อนออกมาในบางส่วนที่งาน NAFSA ด้วย เช่น เรื่องทุนในการประชาสัมพันธ์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการร่วมสร้างภาพลักษณ์ความร่วมมือในกลุ่มสถาบันไทยด้วยกันเอง
ที่พอทำได้คือการเสนอจุดแข็งที่แตกต่างของสถาบันตนเอง เช่น การมีสาขาวิชาที่ครอบคลุมหลายด้านของธรรมศาสตร์ และความร่วมมือข้ามคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ Mahidol University International College ซึ่งส่งตัวแทนเข้าร่วมงานนี้ด้วย รองคณะบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา อาจารย์ ไมเคิ่ล แนกกลิส กล่าวว่า ความน่าสนใจหนึ่งของสถาบันคือคุณภาพและความหลากหลายของนักศึกษา ที่ช่วยยกระดับการเรียนรู้ให้กับนักเรียนต่างชาติในโครงการแลกเปลี่ยนของวิทยาลัย
(สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)