คณะผู้ตรวจสอบความขัดแย้งในเมียนมาระบุว่า การต่อสู้อย่างดุเดือดในสงครามกลางเมืองของเมียนมา ได้ทำลายโรงเรียนจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการศึกษาของเมียนมาในระยะยาว
รายงานจากคำบอกเล่าของพยานชี้ว่า การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา และทำให้เด็กหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพ ประสบปัญหาด้านสุขภาพ สาธารณสุข และขาดการศึกษาที่จำเป็น
องค์กร Center for Information Resilience ซึ่งตั้งอยู่ในอังกฤษ เปิดเผยว่า มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในเมียนมา 174 แห่งที่ถูกโจมตีตั้งแต่กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซู จี เมื่อกว่าสามปีก่อน อ้างอิงจากข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและรายงานข่าวต่าง ๆ
ขณะที่องค์กร Global Coalition to Protect Education from Attack ในนิวยอร์ก บอกว่ามีรายงานการทำลายโรงเรียน 245 แห่งในเมียนมา และมีสถานศึกษาถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการทหารราว 190 แห่ง
แมตต์ ลอว์เรนซ์ แห่งกลุ่ม Myanmar Witness กล่าวว่า "การศึกษาคือส่วนสำคัญของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา แต่ทุกวันนี้ เยาวชนเมียนมากลับต้องเผชิญสภาพที่โรงเรียนถูกทำลายย่อยยับ เช่นเดียวกับโอกาสในชีวิตของพวกเขา" และว่า "หากการศึกษาในเมียนมาไม่ได้รับการปกป้อง ก็มีความเสี่ยงที่มุมมองของคนรุ่นใหม่ในเมียนมาจะถูกขับดันด้วยสงครามและความแตกแยก มากกว่าความหวังและความมีเหตุผล"
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์กร Save the Children ชี้ว่า จำนวนนักเรียนที่ลงทะเบียนในเมียนมาลดลง 80% ระหว่างปี 2020 - 2022 หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจราวหนึ่งปี จนกระทั่งถึงช่วงกลางปี 2022 คาดว่ามีเด็กวัยเรียนในเมียนมาราวครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้ไปโรงเรียน คิดเป็นจำนวนเกือบ 4 ล้านคน
ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) หรือรัฐบาลเงาของเมียนมา ประเมินว่ามีประชาชนเมียนมาถูกสังหารไปแล้วราว 8,000 คนนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นเด็กและเยาวชนมากกว่า 570 คน อ้างอิงข้อมูลจาก Armed Conflict Location & Event Data Project
กลุ่ม Myanmar Witness เชื่อว่า การที่กองทัพเมียนมาใช้การโจมตีทางอากาศบ่อยครั้งขึ้นเพื่อปราบปรามกองกำลังแข็งข้อต่อต้านต่าง ๆ คือสาเหตุหลักของการทำลายอาคารเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าทางรัฐบาลทหารได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยตลอด
รายงานยังระบุถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงส้รางการศึกษาของเมียนมา เช่น การที่เยาวชนจำนวนมากต้องจับอาวุธเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหาร คุณครูหลายพันคนหันไปประกอบอาชีพอื่น หรือมีบทบาทร่วมในกลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ ที่ต่อต้านกองทัพ ตลอดจนขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นด้านการศึกษาทำให้ไม่สามารถสอนหนังสือได้ เป็นต้น
การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิกฤติด้านมนุษยธรรมในเมียนมาในปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมถึงปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมากกว่า 3 ล้านคน และวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่ฝังรากลึกยาวนาน
รายงานของกองทุนเด็กสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund) เมื่อเดือนมิถุนายน ชี้ว่า มีเด็กราว 35% ในเมียนมาที่ขาดแคลนอาหาร และราวครึ่งหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะยากจน ในขณะที่ชนชั้นกลางของเมียนมากำลังหดหายไป
- ที่มา: เอพี