‘สภาต่อต้านรัฐบาลทหาร’-พัฒนาการทางการเมืองใหม่ของเมียนมา

  • VOA

แฟ้มภาพ - สมาชิกกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงแดงและกองทัพกะหรี่ยง ที่บริเวณจุดตรวจใกล้กับเดโมโซ ในรัฐกะยา ทางตะวันออกของประเทศ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การจัดตั้ง “สภาต่อต้านรัฐบาลทหาร” ในพื้นที่ภาคตะวันออกของเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นถึงกระแสที่น่าจะนำมาซึ่งการดำเนินการแบบเดียวกันในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความแตกแยกในภาพรวมของกระบวนการต่อต้านกองทัพด้วย

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรที่ประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มการเมืองและกลุ่มประชาสังคมตกลงจะตั้งสภาแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า Interim Executive Council of Karenni State เพื่อรับผิดชอบหน้าที่ของรัฐอย่างอิสระและไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจการปกครองมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2021

แถลงการณ์เกี่ยวกับแผนงานนี้ระบุว่า สภาแห่งนี้ “มีจุดมุ่งหมายที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้บริการสาธารณะ และทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการขึ้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณะสุข อาหารและสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานอื่น ๆ”

แม้กลุ่มก้อนที่ร่วมกันจัดตั้งสภาแห่งนี้ถูกรัฐบาลทหารระบุว่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย เริ่มต้นการทำหน้าที่ดั่งรัฐบาลขนาดเล็ก ๆ ในรัฐกะเหรี่ยง แต่ก็เป็นกลุ่มแรกใน 14 รัฐและแคว้นของเมียนมาที่กล้าลุกขึ้นมาทำเช่นนี้

เดวิด แมธีซาน นักวิเคราะห์ด้านเมียนมาที่ประจำอยู่ในประเทศไทย กล่าวว่า การกำเนิดขึ้นของสภาในรัฐกะเหรี่ยงนั้นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมซึ่งกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารและกองทัพเมียนมา ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศอยู่

ขณะเดียวกัน อ่อง ตุน นักวิจัยจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ด้วยว่า การเคลื่อนไหวคล้าย ๆ กันนี้กำลังก่อตัวขึ้นในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมาเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แมธีซานและอ่อง ตุน เห็นด้วยว่า การเกิดขึ้นของสภาต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในรัฐต่าง ๆ นี้ ชี้ให้เห็นถึงภาวะการแข่งขันในหมู่ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่ต่อต้านกองทัพเช่นกัน แม้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา หรือ NUG (National Unity Government) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักการเมืองพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจเมื่อสองปีก่อน จะออกมาสนับสนุนพัฒนาการด้านนี้ก็ตาม

  • ที่มา: วีโอเอ