กลุ่มสิทธิมนุษยชน เรียกร้องอินเดียยุติการจำหน่ายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา และขอให้พันธมิตรชาติตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และสวีเดน เข้าร่วมการผลักดันในเรื่องนี้ด้วย
กลุ่มสิทธิมนุษยชน Justice for Myanmar ระบุว่าการวิจัยของกลุ่มสิทธิมนุษยชน พบว่า ชิ้นส่วนอาวุธของสวีเดนที่ผลิตในอินเดีย ถูกส่งมายังเมียนมาอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งหลังการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 ไปแล้ว และการที่บริษัทอาวุธสวีเดน ซ้าบ (Saab) ประกาศแผนผลิตปืนไรเฟิลในอินเดียเมื่อปีก่อน สร้างความกังวลว่าอาวุธดังกล่าวอาจตกไปอยู่ในมือของกองทัพเมียนมาได้
โดยรายงานของกลุ่ม Justice for Myanmar ตรวจสอบข้อมูลการส่งออกของอินเดีย และพบว่ามีการส่งออกอุปกรณ์ด้านการทหาร อาทิ ชิ้นส่วนโซนาร์ของเรือเดินสมุทร อุปกรณ์เรดาร์ และวิทยุสื่อสาร ของบริษัทด้านการบินและอวกาศและการป้องกันประเทศของรัฐบาลอินเดีย ภารัต อิเล็กทรอนิกส์ (Bharat Electronics) ให้กับกองทัพเมียนมาคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีก่อนจนถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกกระสุนปืนใหญ่ 122 มม. จากบริษัทด้านการป้องกันประเทศของอินเดีย ยานตรา อินเดีย (Yantra India) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งมีรายงานว่าเป็นสิ่งที่กองทัพเมียนมาใช้ในการโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน
ระหว่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และชาติอื่น ๆ ออกมาตรการห้ามส่งออกอาวุธให้เมียนมา อินเดียที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศผู้จัดส่งอาวุธที่เหลือเพียงไม่กี่หยิบมือของกองทัพเมียนมา
ยาดาร์นา เมือง โฆษกของ Justice for Myanmar กล่าวกับวีโอเอว่า “การส่งออกอาวุธ เทคโนโลยี และสินค้าของอินเดียมีความสำคัญต่อกองทัพเมียนมา และเปิดทางให้กองทัพเมียนมาเดินหน้าก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” และเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรในจตุภาคี หรือ Quad ที่อินเดียเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ใช้อำนาจที่มีในการยุติการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาของอินเดีย
ทั้งนี้ บริษัทอาวุธและกระทรวงต่างประเทศสวีเดน เช่นเดียวกับทั้งบริษัทภารัต บริษัทยานตรา และทางการอินเดีย ต่างไม่ได้ให้ข้อมูลกับวีโอเอที่ติดต่อสอบถามในประเด็นดังกล่าวในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้
- ที่มา: วีโอเอ