ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ หนุนรายงานยูเอ็น ปมจีนส่งอาวุธให้ รบ. ทหารเมียนมา


FILE - Myanmar military officers leave the venue during a parade to commemorate Myanmar's 78th Armed Forces Day in Naypyitaw, Myanmar, March 27, 2023.
FILE - Myanmar military officers leave the venue during a parade to commemorate Myanmar's 78th Armed Forces Day in Naypyitaw, Myanmar, March 27, 2023.

สหรัฐฯ สนับสนุนข้อค้นพบในรายงานของผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ปมจีนส่งออกอาวุธให้กองทัพเมียนมา หรือ ทัตมาดอว์ ซึ่งต่อมาถูกนำไปปราบปรามกลุ่มต่อต้านหลังการรัฐประหารปี 2021

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาเกาหลี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “สหรัฐฯ สนับสนุนขอบเขตอำนาจของผู้รายงานพิเศษ และหน้าที่ของเขาในการฉายภาพสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา”

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจีนคัดค้านรายงานฉบับที่ส่งให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่จัดทำขึ้นโดยทอม แอนดริวส์ ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นในประเด็นเมียนมา ที่ระบุว่ากองทัพเมียนมานำเข้าอาวุธและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาจากรัสเซียและจีน เป็นมูลค่ารวมกันอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 34,000 ล้านบาท) นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2021

เมื่อ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน มีท่าทีปฏิเสธข้อมูลในรายงานดังกล่าว โดยระบุว่าผู้รายงานพิเศษล้ำเส้นขอบเขตการทำงานของตนเอง และยังกล่าวด้วยว่ารายงานดังกล่าวมีการใส่ร้ายป้ายสีการซื้อขายอาวุธระหว่างรัฐอธิปไตย และนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างไม่ถูกต้อง

รายงานที่เป็นประเด็นมีชื่อว่า “การค้าความตายพันล้านดอลลาร์: เครือข่ายอาวุธนานาชาติที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา (The Billion Dollar Death Trade: The International Arms Networks that Enable Human Rights Violations in Myanmar)” รายงานระบุว่าเมียนมาใช้เงินไปมากกว่า 267 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,198 ล้านบาท) ในการซื้ออาวุธจากนิติบุคคลในจีน รวมถึงบรรษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งที่จดทะเบียนในจีนและฮ่องกง

รายงานระบุตัวอย่างสิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมานำเข้าจากจีน ได้แก่เครื่องบินรบ อากาศยานเพื่อการโจมตี อุปกรณ์เสริมสมรรถภาพให้รถถังและเครื่องบินรบ ไปจนถึงวัตถุดิบต่างๆ เช่น อลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก ยาง และสารหล่อลื่นที่จำเป็นสำหรับการผลิตยุทโธปกรณ์

เดวิด แมกซ์เวลล์ รองประธานศูนย์ยุทธศาสตร์เอเชียแปซิปิก (Center for Asia Pacific Strategy) มองว่าการที่จีนส่งออกอาวุธให้เมียนมาเพราะจีนต้องการมิตรในบริเวณพรมแดนตอนใต้ เพื่อให้จีนเข้าถึงอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเปิดทางไปถึงภาคตะวันออกของอินเดียได้ และว่า “จีนไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชนเมียนมา” และจีน “ต้องการส่งออกระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมไปทั่วโลกเพื่อครอบครองภูมิภาคนี้”

Myanmar, also known as Burma
Myanmar, also known as Burma

บรูซ เบคโทล อาจารย์มหาวิทยาลัยแองเจโลสเตท รัฐเท็กซัส อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ กล่าวว่า เมียนมากำลังถูกมองเป็น “คนนอกคอก” ของประชาคมนานาชาติ และมิตรที่แท้จริงของเมียนมาก็จะมีเพียงจีนเท่านั้น ซึ่งจุดนี้ก็อาจจะเป็นความได้เปรียบของจีนเพราะรัฐบาลปักกิ่งเองก็ไม่ต้องการเห็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับตนเองเป็นประชาธิปไตย

ที่ผ่านมา ‘ทัตมาดอว์’ ปราบปรามผู้ต่อต้านการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอย่างรุนแรง ในรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch) เมื่อปี 2023 ระบุว่าทหารเมียนมาใช้ปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกหน้า ซึ่งคร่าทั้งชีวิตของพลเรือนและทรัพย์สินต่าง ๆ

รายงานต่อยูเอ็นจากผู้รายงานพิเศษที่จีนออกมาปฏิเสธ ระบุว่าทหารเมียนมาสังหารพลเรือนไปแล้วอย่างน้อย 3,500 ราย คุมขังนักโทษทางการเมืองมากกว่า 22,000 คน และบีบบังคับให้คนต้องพลัดถิ่นมากกว่า 1,500,000 คน นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปีเดือนกุมภาพันธ์ 2021

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทหารเมียนมาและธนาคารของรัฐอีกสองแห่งที่ถูกใช้สำหรับการซื้ออาวุธ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ธนาคารทั้งสองแห่งคือ ธนาคารเพื่อการค้าระหว่างประเทศแห่งเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) และ ธนาคารเพื่อการค้าและการลงทุนเมียนมา (Myanma Investment and Commercial Bank) อนุญาตให้บรรษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศได้เพื่อนำรายได้ไปใช้ในการซื้ออาวุธและวัตถุดิบต่าง ๆ ทางการทหาร

ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG