พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเดินทางเยือนจีนในสัปดาห์นี้เพื่อร่วมการประชุมสุดยอด ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างข้อมูลจากสื่อรัฐบาลเนปิดอว์ในวันจันทร์
กำหนดการเยือนจีนของ มิน อ่อง หล่าย นี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนของนาง ออง ซาน ซู จี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021
นับตั้งแต่นั้นมา เมียนมาตกอยู่ในกลียุคมาโดยตลอด โดยเฉพาะที่แถบชายแดนติดกับจีน จากการที่กลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่เป็นชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เปิดศึกแย่งชิงอาณาเขตจากรัฐบาลทหาร
สำหรับการเดินทางไปจีนนี้ มิน อ่อง หล่าย จะเข้าร่วมการประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Greater Mekong Subregionand the Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) และการประชุมร่วมกับกัมพูชา ลาวและเวียดนาม ในวันที่ 6 และ 7 พฤศจิกายนที่เมืองคุนหมิง ตามรายงานของสื่อ MRTV
รายงานข่าวนี้ระบุด้วยว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่จีนเพื่อยกระดับความสัมพันธ์แบบทวิภาคี เศรษฐกิจและโครงการพัฒนาต่าง ๆ
รอยเตอร์ระบุว่า ภาวะระส่ำหนักของรัฐบาลทหารเมียนมาที่พ่ายแพ้แก่กลุ่มต่อต้านในช่วงที่ผ่านมาทำให้จีนกังวลใจไม่น้อย จนต้องสั่งปิดพรมแดนของตนและสั่งระงับการส่งออกเข้าสินค้าสำคัญ ๆ บางส่วนไปยังพื้นที่ที่กลุ่มต่อต้านยึดครองไว้อยู่
ทั้งนี้ จีนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเมียนมาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับท่อส่งก๊าซและน้ำมันสายหลักที่พาดผ่านทั้งประเทศ และแผนการสร้างท่าเรือน้ำลึกในอ่าวเบงกอล
กรุงปักกิ่งยังนำเข้าสินแร่หายากจากเมียนมาเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานลมและอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย
เดวิด แมธีสัน นักวิเคราะห์อิสระที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา ให้ความเห็นว่า ไม่ว่า มิน อ่อง หล่าย จะได้แรงหนุนเพิ่ม หรือ แรงกดดันเพิ่มจากจีน “นั่นจะเป็นข่าวร้ายสำหรับชาวเมียนมาอยู่ดี” และว่า “จีนบอกไว้ชัดเจนแล้วว่า จะสนับสนุนสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council) และแผนการเปลี่ยนถ่ายสำหรับการเลือกตั้งของรัฐบาล(ทหาร)”
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลเนปิดอว์เริ่มทำการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งที่สัญญาว่าจะจัดขึ้นในปีหน้า แม้ว่าจะไม่ได้มีอำนาจปกครองดูแลทุกพื้นที่ของประเทศอยู่ก็ตาม
SEE ALSO: จีนสัญญามอบงบช่วยเมียนมาจัดเลือกตั้งกรุงปักกิ่งให้สัญญาจะส่งความช่วยเหลือทางเทคนิคไปยังรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรและการจัดการเลือกตั้ง ตามรายงานสื่อรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม หลังรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เดินทางมาพบ มิน อ่อง หล่าย
ผู้ที่ติดตามและวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ในเมียนมาบางรายมองว่า การประชุมดังกล่าวที่กรุงเนปิดอว์เป็นเหมือนการรับรองจากกรุงปักกิ่งซึ่งทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากที่จีนทำเช่นนั้น พร้อมชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคของการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของพวกตน
- ที่มา: รอยเตอร์