มองสงครามกลางเมืองเมียนมา ผ่านสายตา บก.อาวุโส 'วีโอเอพม่า'

This photo taken on December 10, 2023 shows members of the Mandalay People’s Defense Forces (MDY-PDF) heading to the frontline. (AFP)

INTRO: ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารและกองกำลังพันธมิตรที่ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ยังดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด เราได้ไปพูดคุยกับ จ่อ ซัน ทา บรรณาธิการอาวุโสของ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า เพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งและทิศทางในอนาคต และคุณนพรัตน์ ชัยเฉลิมมงคล มีสรุปรายละเอียดมานำเสนอ

การต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ดำเนินมาหลายเดือน จนเข้าข่ายสงครามกลางเมือง สะท้อนภาพความขัดแย้งที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ หลังจากที่เมียนมาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ

จ่อ ซัน ทา (Kyaw Zan Tha) บรรณาธิการอาวุโสของ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ในประเทศบ้านเกิดของเขาที่จากมาเมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน คือ สถานการณ์ที่เปี่ยมไปด้วยอันตรายสำหรับประชากรเกือบทั่วทั้งประเทศ ต่างจากภาวะขัดแย้งครั้งก่อน ๆ

Your browser doesn’t support HTML5

มองสงครามกลางเมืองเมียนมา ผ่านสายตา บก.อาวุโส 'วีโอเอพม่า'

เขากล่าวว่า ขณะนี้เมียนมาอยู่บนปากเหวของการเป็นรัฐที่ล้มเหลว

“ประเทศตกอยู่ภาวะวุ่นวายในเวลานี้ เป็นสงครามกลางเมืองไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะแถบชายขอบ แต่มาถึงแถบภาคกลางที่มีการต่อสู้ไปทั่ว ดังนั้น รัฐบาลกลางควบคุมสถานการณ์ได้น้อยมาก และไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนทั้งหมดของประเทศได้”

ความไม่สงบรอบใหม่ในเมียนมานั้นเริ่มปะทุขึ้นมา ตั้งแต่หลังกองทัพก่อรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นาง ออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 ก่อนจะเดินหน้าจับกุมผู้เห็นต่าง รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดมาโดยตลอด จนนำมาซึ่งการประท้วงเป็นจุด ๆ ทั่วประเทศและปราบปราบด้วยความรุนแรงเป็นระยะ

จ่อ ซัน ทา -- บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า

การกระทำของกองทัพจึงเป็นเหมือนตัวเร่งให้ประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารหันไปสนับสนุนกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ประกอบด้วยกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการอิสรภาพในการปกครองตัวเอง และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน นับเป็นปรากฏการณ์และความท้าทายต่อกองทัพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า อธิบายว่า “ทุกคนจึงต้องการโค่นกองทัพ นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมการต่อสู้จึงแผ่ขยายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะในหมู่ชนกลุ่มชาติพันธุ์ แต่แม้แต่ชาวพม่าเองที่เข้าร่วมต่อสู้กับรัฐบาลทหาร นั่นจึงเป็นความแตกต่างระหว่างเมื่อ 70 ปีก่อนและเวลานี้”

ภาพที่บันทึกไว้เมื่อ 10 ธ.ค. 2566 แสดงให้เห็นสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมัณฑะเลย์ ขณะเตรียมยิงอาวุธหนักใกล้ ๆ แนวหน้าของการสู้ปะทะกับกองทัพเมียนมา ในรัฐฉาน

จ่อ ซัน ทา ชี้ว่า ความพ่ายแพ้ไปทั่วสร้างความระส่ำระส่ายให้กองทัพ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระดับผู้บังคับบัญชา และทำให้ทหารเสียขวัญอย่างหนัก นอกจากนั้น การที่รัฐบาลทหารประกาศเกณฑ์ชายหนุ่มอายุตั้งแต่ 18 ถึง 32 ปี ให้ต้องเข้ามาช่วยรบ ยังแสดงให้เห็นว่า กองทัพเมียนมากำลังขาดกำลังอย่างมาก และเป็นมาตรการที่ผลักดันให้ผู้คนหนีออกนอกประเทศ หรือเข้าไปอยู่กับฝ่ายต่อต้าน

จ่อ มองว่า การสู้รบในเมียนมาเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องจับตาดูต่อไป และยากที่จะคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า การเสียการควบคุมในเมียวดีและเมืองอื่น ๆ แสดงให้เห็นการเพลี่ยงพล้ำของกองทัพก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ติดตามสถานสถานการณ์ความขัดแย้งก็จับตาดูว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารจะมีความเข้มแข็งและรักษาเอกภาพไปได้นานแค่ไหน

ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาไทย นพรัตน์ ชัยเฉลิมมงคล ขณะพูดคุยกับ จ่อ ซัน ทา บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า

บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอพม่า กล่าวว่า “ที่ผ่านมากว่า 70 ปีนับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพของเมียนมา กองทัพมีความเชื่ออยู่ในใจลึก ๆ ว่า พวกเขาคือองค์กร คือสถาบันที่จะสามารถรวมชาติไว้ได้ นั่นเป็นความเข้าใจที่หยั่งรากฝังลึกในใจของกองทัพมานาน นั่นเป็นประเด็นที่ยาก ยากมาก ๆ ที่จะลบล้างไปให้หมดสิ้น ดังนั้น ก็คงต้องปราบกองทัพให้ราบคาบเท่านั้น”

เขากล่าวด้วยว่า การที่จีนและรัสเซียอยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนกองทัพเมียนมา พร้อมจัดหายุทโธปกรณ์ให้ คือ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลทหารชุดนี้จะยังควบคุมอำนาจการปกครองต่อไปได้ โดยตราบใดที่รัสเซียยังคงหนุนอยู่ กองทัพเมียนมาไม่มีทางจะแพ้อย่างง่ายดาย แม้จะเผชิญการต่อต้านรุนแรงก็ตาม

ชาวเมียนมาข้ามแม่น้ำเมยจากเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา มายังอำเภอแม่สอด เมื่อ 20 เม.ย. 2024

เมื่อถามถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในการสร้างเสถียรภาพให้เมียนมา บรรณาธิการอาวุโอ วีโอเอพม่า ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ยังวุ่นวายกับเรื่องอื่น ๆ อยู่ เรื่องที่ดูสำคัญกว่า เช่น ยูเครน ตะวันออกกลาง กาซ่า อิสราเอล ดังนั้น เรื่องของเมียนมาอาจอยู่ที่ลำดับล่าง ๆ (แต่) หากอเมริกาและจีนสามารถตกลงกันในบางเรื่องเกี่ยวกับพม่าได้ นั่นก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ให้เมียนมามีสันติและความมั่นคงอีกครั้ง”

เขามองว่า การสู้รบและความไม่สงบที่จะดำเนินต่อไป เป็นการแสดงออกในเชิงยุทธศาสตร์ถึงความไม่พอใจที่สะสมมานาน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สันติในเมียนมาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเต็มใจและความสามารถของกองทัพที่จะแก้ปัญหาการเมือง ที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาทั้งหมด

  • ที่มา: วีโอเอ