การเผชิญหน้าระหว่างทหารและกองกำลังของสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายของเมียนมาในเวลานี้อาจเริ่มต้นขึ้นจากความพยายามของกองทัพในการประกาศศักดาความแข็งแกร่งในการควบคุมพื้นที่แนวชายแดนของประเทศ แต่ปัจจุบัน รัฐบาลทหารกลับตกอยู่ในสภาพที่ต้องกระเสือกกระสนเอาตัวให้รอดให้ได้ หลังถูกกองกำลังฝ่ายต่อต้านตีพ่ายไปในหลายสนามรบจนทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า อนาคตของรัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มมืดมนลงเรื่อย ๆ แล้ว
แซคคารี อาบูซา นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก National War College ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ผู้นำกองทัพเมียนมานั้น “กำลังปฏิเสธความจริงอันโหดร้าย” เกี่ยวกับสิ่งที่ได้ทำกับประเทศของตนไปอยู่ และว่า “เศรษฐกิจก็พังทลายลงไปแล้ว ... การสู้รบก็พ่ายแพ้ไปแล้วหลายครั้ง และเมืองต่าง ๆ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ... มีการใช้โดรนโจมตีเมืองหลวง บรรดานายพลก็ถูกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และเหล่าพันธมิตรทำให้ฉุนไม่หยุดหย่อน”
ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาพม่า ว่า หลังพ่ายแพ้และเสียเมืองตามแนวชายแดนต่าง ๆ ให้กับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน กองทัพเมียนมาอยู่ในภาวะขาดแคลนทหารอย่างหนัก จนต้องประกาศเกณฑ์ทหารให้ได้ 50,000 นายภายในปลายปีนี้เพื่อหวังจะได้โต้คืนกลับ
หนึ่งในพื้นที่ที่กองทัพเมียนมาเสียให้กับฝ่ายต่อต้านคือ รัฐยะไข่ ที่ซึ่งกองทัพอาระกันสามารถยึด 8 เมืองจากทั้งหมด 17 เมืองในรัฐนี้และเมือง 1 แห่งในรัฐชินที่อยู่ติดกัน หลังการสิ้นสุดของข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพเมื่อ 13 พฤศจิกายนของปีที่แล้ว
พันโทหญิงมิมี วินน์ เบิร์ด ที่เกษียณจากกองทัพสหรัฐฯ แล้วแต่ยังทำงานด้านกิจการเมียนมาอยู่ กล่าวว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทหารอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบและเสี่ยงที่จะแพ้อยู่ ขณะที่ เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการด้านเมียนมาของ Institute of Peace ในกรุงวอชิงตัน ให้ทัศนะว่า ปัญหาการขาดแคลนกำลังพลได้กลายมาเป็นความกังวลด้านการมีตัวตนอยู่ของรัฐบาลทหารเมียนมาไปแล้ว และว่า “จำนวนทหารที่สูญเสียไปนั้นสูงเกินกว่าจำนวนที่จะเข้ามาเติมภายใต้กฎหมายการเกณฑ์ทหารอย่างมาก และเพราะทหารใหม่คือ กลุ่มที่ถูกบีบให้มาสู้รบ เป็นไปได้ที่พวกเขาจะเลือกยอมแพ้หรือละทิ้งหน้าที่เมื่อเดินทางถึงสนามรบแล้ว”
ความร่วมมือของฝ่ายต่อต้าน
เมื่อวันที่ 10 เมษายน กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และพันธมิตรสามารถยึดพื้นที่ตั้งของกองพันทหารราบ 275 ของกองทัพเมียนมาในเมืองเมียวดีซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนติดกับอำเภอแม่สอดของไทยที่มีสินค้าผ่านเข้า-ออกปีละราว 1,000 ล้านดอลลาร์ไปได้ ก่อนฝ่ายกองทัพจะโต้กลับสำเร็จและยึดคืนฐานที่มั่นดังกล่าวมาได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ KNLA ก็ยังคงควบคุมค่ายและฐานทัพทหารหลายจุดในเมืองนี้ได้อยู่
ส่วนที่รัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือของประเทศ กองกำลังปลดปล่อยชาวคะฉิ่น (KIA) ทำการโจมตีเข้าใส่กองทัพเมียนมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมจนต้องล่าถอยอย่างต่อเนื่องและฝ่ายต่อต้านนี้สามารถยึดค่ายทหารมาได้กว่า 60 แห่ง ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สารสนเทศของ KIA
และที่รัฐฉาน ทางใต้ของประเทศ กลุ่มพันธมิตรสามภารดร (Three Brotherhood Alliance) ถล่มกองทัพเมียนมาจนพ่ายไปหลายต่อครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม จนสามารถยึดเมืองและหมู่บ้าน 32 แห่งมาได้
นอกจากนั้น กองทัพกะเหรี่ยงและพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ทำการโจมตีเข้าใส่เมืองหลายแห่งในรัฐกะยา ซึ่งรวมถึงพื้นที่ติดกับชายแดนไทย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา จนยึดเมืองหลายแห่งและพื้นที่ราว 80% ของเมืองหลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐนี้ได้
ไซ จี ซิน โซ นักวิเคราะห์ข่าวการเมืองและการทหาร ระบุว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่ประกอบด้วยกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเงา NUG น่าจะกำลังมุ่งหาทางยึดพื้นที่ตามแนวชายแดนของประเทศเพื่อควบคุมภาวะการค้าของเมียนมาให้อยู่ในมือของตน
ปัญหาและการดิ้นรนของกองทัพเมียนมา
ในขณะที่ กองทัพเมียนมายังคงอำนาจในแคว้นมัณฑะเลย์ มาเกวและสะกาย ในภาคกลางของประเทศไว้ได้อยู่ คำถามสำคัญคือ รัฐบาลทหารจะทำเช่นนี้ต่อไปได้อีกนานเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลชุดนี้ไร้ซึ่งความสามารถที่จะเป็นผู้นำทั้งทางทหารและทางการเมืองแล้ว
เจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมารายหนึ่งที่เกษียณราชการไปแล้ว บอกกับผู้สื่อข่าวโดยไม่ขอเปิดเผยตัวตนว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลทหารที่จะเอาชนะในสนามรบ เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และบรรดานายพลทั้งหลาย
แหล่งข่าวรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า “ประเด็นสำคัญที่ต้องมีการจัดการแก้ไข เช่น เรื่องการจัดวางกำลังทหาร ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีการลงมือสะสาง ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนว่า (กองทัพ) จะยังไม่มีการจัดเตรียมการรับมือและการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เลย” โดยเขาบอกด้วยว่า ไม่เคยเห็นปัญหาการจัดการบริหาร [ที่ย่ำแย่] แบบนี้มาก่อน ในประวัติศาสตร์กองทัพเมียนมา
แซคคารี อาบูซา นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก National War College ให้ความเห็นด้วยว่า เมื่อสถานการณ์ของรัฐบาลทหารยิ่งดูสิ้นหวังขึ้นเรื่อย ๆ บรรดาผู้นำกองทัพก็จะยิ่ง “ทำการต่าง ๆ ที่ไร้สติแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวมากขึ้นไปอีก”
เขายังกล่าวด้วยว่า “ท่ามกลางสภาพการณ์ยุ่งเหยิงเช่นนี้ บางที ชัยชนะที่สำคัญที่สุด [สำหรับฝ่ายต่อต้าน] อาจกำลังก่อตัวขึ้นในความวุ่นวาย(ของกองทัพ)อยู่ ก็เป็นได้”
ผลกระทบความพยายามช่วยเมียนมา หลังการลาออกของรมว.ตปท.ไทย
ผลกระทบของการลาออกจากตำแหน่งของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรีของไทยต่อความพยายามแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาเป็นอีกประเด็นที่มีการพูดถึง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาพม่า ว่า มีกระแสข่าวว่า นายปานปรีย์ลาออกจากตำแหน่งเพราะประเด็นเมียนมาเป็นเรื่องที่ยากและมีความท้าทายมากเกินไป แต่ส่วนตัวแล้ว ตนเองไม่เชื่อเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลลิตา กล่าวว่า การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสันติในเมียนมาของฝ่ายไทยนัก เพราะยังมีผู้ร่วมดูและเรื่องนี้อยู่หลายคน เช่น นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินและตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพไทยและสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ เป็นต้น ดังนั้น การก้าวลงจากตำแหน่งของนายปานปรีย์ซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ก็จะเพียงหมายถึงการรอรัฐมนตรีต่างประเทศไทยคนใหม่มารับหน้าที่ต่อเท่านั้น
- ที่มา: สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA)
กระดานความเห็น