ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายังคงเผชิญความท้าทาย หลังยึดเมียวดีได้


จนท.กองกำลังปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ร่วมถ่ายภาพกับป้ายเมืองเมียวดี
จนท.กองกำลังปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ร่วมถ่ายภาพกับป้ายเมืองเมียวดี

สมาชิกกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่า ทหารที่ประจำการอยู่ที่เมืองเมียวดีอยู่ในภาวะขวัญเสียอย่างหนักจนยอมละทิ้งหน้าที่หนีออกจากเมืองศูนย์กลางสำคัญของการค้าที่ชายแดนของประเทศ ตามรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์

ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ที่เพิ่งเดินทางไปยังเมืองเมียวดีในสัปดาห์นี้รายงานว่า สภาพของเมืองที่เป็นสนามรบดุเดือดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตกอยู่ในสภาพร้างและเสียหายไปทั่ว

ซอ คอ ผู้บัญชาการกองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมาที่ร่วมต่อสู้ที่เมียวดี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “พวกเราเข้ายึดฐาน(ทัพ) 3 แห่งและเข้าควบคุมพื้นที่ต่าง ๆ ได้ภายในเวลาสั้นมาก ๆ ... แล้วพวกเขา (ทหารเมียนมา) ก็หลบหนีออกไปหมด”

ในเวลานี้ กลุ่มเจ้าหน้าที่อารักขาพื้นที่เมืองนี้ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่เคยภักดีต่อรัฐบาลทหารเมียนมากลับมาทำหน้าที่ลาดตระเวนพื้นที่เมืองซึ่งเป็นด่านการค้าชายแดนติดกับไทยที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หลังกลุ่มดังกล่าวตัดสินใจปล่อยให้กองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU เข้ายึดเมืองเมื่อต้นเดือนเมษายน

รอยเตอร์ระบุว่า ทีมผู้สื่อข่าวของตนได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้เข้าไปในพื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมาเมื่อวันจันทร์และได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของกองกำลังที่ว่า รวมทั้งพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและนักวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลมาประกอบรางานนี้ด้วย

ทั้งนี้ การที่เมืองเมียวดีตกอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มต่อต้านกองทัพนั้นหมายถึง การที่เมืองซึ่งเป็นจุดผ่านแดนสำคัญที่สุด 2 แห่งของเมียนมาหลุดจากมือของรัฐบาลทหารไปแล้ว เมื่อนับรวมกรณีของเมืองมูเซ (หมู่เจ้) ที่อยู่ติดกับชายแดนจีนซึ่งฝ่ายต่อต้านยึดจากทหารมาได้เมื่อปีที่แล้ว

แผนที่เมียวดี-แม่สอด
แผนที่เมียวดี-แม่สอด

รอยเตอร์ชี้ว่า สถานการณ์นี้หมายถึงการที่รัฐบาลทหารสูญเสียแหล่งรายได้สำคัญหลักที่มาจากการค้าข้ามแดนไปแล้ว ขณะที่ เศรษฐกิจของประเทศก็อยู่ในภาวะดิ่งลงหนักและปัญหาความยากจนก็รุนแรงขึ้นถึง 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2017 มา ตามข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ

สถาบัน Institute for Strategy and Policy-Myanmar (ISP) ที่ตั้งอยู่ในไทย ประเมินว่า หลังการเสียเมืองเมียวดีให้กับฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลทหารน่าจะสูญรายได้จากการเก็บภาษีการค้าภาคพื้นดินไปถึง 60% เลยทีเดียว ทั้งยังทำให้รัฐบาลที่นำโดยกองทัพนี้ตกอยู่ในจุดที่อ่อนแอที่สุด นับตั้งแต่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซู จี เมื่อต้นปี 2021 ด้วย

นอกจากนั้น ประเทศไทยซึ่งเคยพยายามเข้าหารัฐบาลทหารเมียนมาก็เริ่มหันมาทบทวนจุดยืนของตนเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาแล้ว

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ บอกกับรอยเตอร์ในวันพุธว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยได้ติดต่อสื่อสารกับฝ่าย KNU และกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ดูแล้ว และทุกฝ่ายก็ “เปิดรับการพูดคุยมากขึ้น” โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการด้านมนุษยธรรม

นายสีหศักดิ์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยไม่ได้เข้าข้างกองทัพเมียนมา “โดยไม่ลืมหูลืมตา” แต่ “เพราะว่า เราต้องการสันติภาพ เราจึงต้องคุยกับพวกเขา”

รอยเตอร์ติดต่อไปยังโฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เช่นเดียวกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (Karen Buddhist Army) และกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Army – KNA) ที่ยังคงทำหน้าที่ลาดตระเวนพื้นที่บางส่วนของเมียวดีและพื้นที่รอบ ๆ ก็ไม่ตอบรับคำร้องของความเห็นของผู้สื่อข่าว

อนึ่ง ทั้งสองกลุ่มนี้ยังไม่ได้ประกาศตนว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมาอย่างเต็มตัว จนถึงบัดนี้ และนี่ก็แสดงให้เห็นถึงโจทย์สำคัญต่อไปของกองกำลังติดอาวุธที่มีอยู่มากมายหลายกลุ่ม ซึ่งก็คือ การหาทางทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับรัฐบาลทหารเมียนมาให้ได้

ซอ ตอ นี โฆษกของกลุ่ม KNU กล่าวว่า “สิ่งแรก(ที่เราทำคือ) เราไม่ฆ่ากันเอง” และว่า “แล้วเราค่อยเริ่มไปต่อจากตรงนั้น”

ทหารจากกลุ่ม KNU ออกลาดตระเวนในเมืองเมียวดี เมื่อ 15 เม.ย. 2567
ทหารจากกลุ่ม KNU ออกลาดตระเวนในเมืองเมียวดี เมื่อ 15 เม.ย. 2567

ขณะเดียวกัน แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพ คาดว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะพยายามยึดเมืองเมียวดีคืนในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อสกัดกั้นฝ่ายต่อต้านไม่ให้เข้าถึงเส้นทางหลวงสายสำคัญที่วิ่งผ่านใจกลางประเทศอยู่ แต่ก็ยอมรับว่า ความพ่ายแพ้ของกองทัพที่เกิดขึ้นไม่ไกลจากพื้นที่ภาคกลางของประเทศอาจกระทบต่อเส้นทางขนส่งสำคัญที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของกองทัพ และอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพจิตใจของกองทัพได้

มอร์แกน ไมเคิลส์ จาก International Institute for Strategic Studies เคยระบุความเห็นในรายงานที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมว่า รัฐบาลทหารเมียนมายังคงมีความน่าเกรงขามอยู่และน่าจะยังคงรักษาอำนาจการควบคุมรัฐบาลและพื้นที่ตอนกลางที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญไว้ได้ ถ้าไม่ได้เกิดการก่อกบฏหรือการแทรกแซงจากภายนอกขึ้นมาเสียก่อน

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG