ประชาคมอาเซียนยังคงถูกวางบทบาทในการกู้วิกฤตในเมียนมา แต่เมื่อสมการการเมืองของแต่ละประเทศสมาชิกเปลี่ยนผัน พ่วงด้วยความขัดแย้งภายในประเทศที่ยกระดับ หลายฝ่ายจึงยิ่งเพ่งเล็งมาที่อาเซียนอีกครั้งว่าจะเปลี่ยนท่าทีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้หรือไม่?
อาเซียนได้รับการจับตามองว่าเป็นประชาคมระหว่างประเทศที่เป็นกลุ่มการเมืองในอุดมคติที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2021 และจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองเมียนมา
แต่ฉันทามติ 5 ข้อในการยุติวิกฤตเมียนมาที่กลุ่มอาเซียนได้เสนอขึ้นมานั้น กลับเผชิญกับเสียงวิจารณ์จากนักวิเคราะห์และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่แย้งว่า 10 ชาติอาเซียนหนุนรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเงียบ ๆ และเพิกเฉยต่อผู้ที่มีบทบาททุกฝ่ายในความขัดแย้งเมียนมา
รอสส์ มิโลเซวิก ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง ผู้จัดทำการวิจัยในเมียนมา ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “ฉันทามติ 5 ข้อเป็นความล้มเหลวที่น่าเศร้า” แต่เสริมว่าความปราชัยในหลายสมรภูมิของกองทัพเมียนมา ที่รู้จักกันว่า ทัตมาดอว์ บวกกับการเลือกตั้งของประเทศในประชาคมอาเซียน กำลังช่วยเขียนสมการการเมืองใหม่ในประชาคมนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
ที่ผ่านมา ฉันทามติ 5 ข้อเป็นแนวทางสู่สันติภาพที่ประกอบด้วยการหยุดยิงชั่วคราวทันที การให้ตัวแทนอาเซียนเป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างคู่กรณี และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
การเดินทางที่มาถึงจุดเปลี่ยน
จากการรุกคืบเป็นเวลา 5 เดือน องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) สามารถเข้าควบคุมดินแดนที่อยู่ในการครอบครองของกลุ่มชาติพันธุ์ บริเวณพรมแดนที่ติดกับประเทศไทย ลาว จีน อินเดีย และบังคลาเทศได้
แม้ว่าจะมีการระดมโจมตีทางอากาศจากกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ตอนใต้เมียนมาที่มีพื้นที่เลียบพรมแดนไทย และชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานที่มีพรมแดนกับจีนทางตอนเหนือของเมียนมา ยืนยันการควบคุมทางการเมืองเมียนมา
มิโลเซวิกเสริมว่า ตอนนี้กลุ่มชาติพันธุ์รัฐอื่น ๆ กำลังเข้าควบคุมพื้นที่ต่าง ๆ ในเมียนมาด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ทัตมาดอว์ถูกปิดล้อมด้วยกองกำลังชาติพันธุ์ แต่ก็ยังตรึงกำลังแน่นหนาภายในตอนกลางเมียนมา และควบคุมพื้นที่สำคัญที่เชื่อมต่อนครย่างกุ้ง เนปิดอว์ และมัณฑะเลย์
เขามองว่า “การยึดครองพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่สร้างความหวาดกลัวให้กับทัตมาดอว์เท่านั้น แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังบรรดาผู้นำการเมืองในอาเซียนด้วยเช่นกัน” โดยเฉพาะการสูญเสียการควบคุมเมืองเมียวดี อันเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนที่เชื่อมต่อกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย
ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงรายนี้ เพิ่มเติมว่า “ตอนนี้ต้องจับตาดูว่าความขัดแย้งนี้จะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปีหรือไม่ ... ผมหวังว่าไทยจะเป็นแกนนำในความพยายามแก้ไขปัญหาของการต่อสู้ การเสียเลือดเนื้อ และความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”
ข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงผลกำไร Armed Conflict Location and Event Data Project ที่ติดตามสงครามความขัดแย้งกว่า 50 พิกัดทั่วโลก พบว่า เมียนมาเป็นพื้นที่มีความขัดแย้งรุนแรงที่สุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50,000 คนนับตั้งแต่การก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 และมีพลเรือนเมียนมาเสียชีวิตถึง 8,000 คน
พลิกโฉมการเมืองอาเซียน
อาเซียนมีความแบ่งแยกระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการพรรคเดียว ซึ่งประเทศอย่างกัมพูชาและลาวที่เป็นประธานอาเซียนปัจจุบัน ถูกกล่าวว่าปิดกั้นนโยบายในหลายประเด็น รวมทั้งเมียนมา เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
ชาลส์ ซานติอาโก สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกมาวิจารณ์บทบาทของประชาคมอาเซียนและบางประเทศสมาชิกว่ามีท่าทีอ่อนข้อต่อรัฐบาลทหารเมียนมาและเพิกเฉยต่อชะตากรรมของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ โดยกล่าวว่า “อาเซียนควรจะมีแกนหลักและมีนโยบายที่ชัดเจน เมื่อพิจารณาบทบาทผู้นำของลาวแล้ว ผมไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ลาวไม่ได้แสดงหรือกล่าวถึงสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ และอาเซียนเองไม่ได้กล่าวถึงแผนการต่าง ๆ ของประชาคม”
ไม่นานก่อนเมืองเมียวดีจะตกอยู่ในมือของกองกำลังกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เมื่อ 10 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ราว 20 กลุ่มปะทะกับทัตมาดอว์ควบคู่ไปกับกลุ่ม PDF อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน เสนอการเจรจาแบบเปิดกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ที่ “มุ่งเป้าแก้ปัญหาวิกฤตในเมียนมา”
ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ ในเรื่องนี้ แต่ในวาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหารเมียนมา พล.อ.มิน อ่อง หล่าย กลับกล่าวอ้างอีกครั้งว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 – ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) ซึ่งกวาดที่นั่งในสภามากว่า 80% นั้น – มีการทุจริตเกิดขึ้น และยืนกรานว่าเป้าหมายทางการเมืองของเขาคือการจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสยุติธรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยในเมียนมาอย่างถาวร
แหล่งข่าวจากกลุ่ม PDF ระบุว่า ฮุน เซน ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะตัวกลางการเจรจา เนื่องจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย โดยระบุว่าทั้งสองต่างเรียกกันและกันว่า “ก็อดบราเธอร์ส” หลังการหารือเมื่อปี 2022 ที่กรุงพนมเปญ ของกัมพูชา ในช่วงที่ฮุน เซน นั่งเก้าอี้ประธานหมุนเวียนอาเซียน
แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายนี้เสริมว่า “พวกเขาจะไม่เจรจากับเรา ... อินโดนีเซียและสิงคโปร์ได้รับการยอมรับ เพราะพวกเขาพยายามนับเราเข้าไปในความพยายามหาทางออกของวิกฤตนี้” และมองว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ บวกกับการก้าวขึ้นมาเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนของมาเลเซียในปีหน้า การเจรจาวิกฤตเมียนมาจะมุ่งเน้นเรื่องความเป็นอิสระของรัฐชาติพันธุ์อาจจะเกิดขึ้น แต่อาจไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซานติอาโก สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นด้วยกับประเด็นนี้ โดยระบุว่า กลุ่มประเทศอาเซียนที่นำโดยมาเลเซีย และได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย สามารถรับหน้าที่เป็นตัวกลางการเจรจานี้ได้
ส่วนมิโลเซวิก เสริมด้วยว่า “อาเซียนอาจส่งมอบผลลัพธ์ที่ช่วยรักษาเสถียรภาพในเมียนมาได้ ด้วยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ หรือให้กองทัพเมียนมาเข้ามารับผิดชอบต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น – และช่วยวางกรอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของกรอบบัตรอาเซียน”
หลังจากกลุ่มชาติพันธุ์เข้ายึดครองเมียวดี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงมุมมองของไทยต่อสถานการณ์เมียนมา โดยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า "รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มอ่อนกำลังลงบ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีอำนาจและมีกำลังอาวุธอยู่" และว่า "บางทีอาจจะถึงเวลาที่ต้องประสานเพื่อเจรจาตกลงกัน"
จากนั้นรัฐบาลทหารเมียนมาก็ประกาศการย้ายออง ซาน ซู จี และอดีตประธานาธิบดี วิน มินต์ จากการคุมขังในเรือนจำมาเป็นการคุมขังในบ้าน ซึ่งประเทศไทยได้ออกมาเรียกร้องให้เมียนมา “ปล่อยตัวพวกเขาโดยทันที”
โอกาสอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น
ทั้งกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารและอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมในการบริหารประเทศ ได้แสดงความชัดเจนแล้วว่าพวกเขาจะไม่เจรจากับทัตมาดอว์ และกดดันให้บรรดานายพลอาวุโสของเมียนมาเผชิญกับข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม
ผู้นำ NUG ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญก่อนสงครามกลับมาบังคับใช้ และรับรองให้ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไมเคิล มาร์ติน จาก Center for International and Strategic Studies ในกรุงวอชิงตัน มองว่าไม่น่าเกิดขึ้นได้
มาร์ติน เสริมว่า กลุ่มชาติพันธุ์อย่างกะเหรี่ยงและฉาน จะผลักดันการจัดตั้งรัฐอิสระและวางระบอบการเมืองการปกครองภายในเอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้กับรัฐชาติพันธุ์อื่น ๆ และทำให้รัฐในการปกครองของรัฐบาลทหารเมียนมาถูกโดดเดี่ยวและถูกปิดล้อมในที่สุด
ณ เวลานี้ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ไม่ใช่การดึงการปกครองในยุคก่อนสงครามกลับมาเหมือนแนวทางของ NUG ขณะที่ PDF ที่มีปีกของกลุ่มติดอาวุธในระดับรัฐซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีความเห็นอกเห็นใจกันอยู่
นักวิชาการผู้นี้กล่าวกับวีโอเอด้วยว่า “สำหรับอาเซียนแล้ว หนึ่งในคำถามที่จะเกิดขึ้น คือ พวกเขาจะพูดต่อไปอีกนานแค่ไหนว่า “เรากำลังหาทางเจรจาอยู่ เราจะเดินหน้าทำงานกับรัฐบาลทหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย”? .. หรือพวกเขาจะยอมพูดว่า “เรื่องนั้นมันจบแล้ว มันจะไม่เกิดขึ้น และเริ่มทำงานร่วมกับองค์กรชาติพันธุ์แทน” ในที่สุด”
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น