รัฐบาลทหารเมียนมาออกโรงโต้การประณามจากทั่วโลกต่อกรณีการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 ราย ว่า เป็นการคืน “ความยุติธรรมให้กับประชาชน” ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ในวันจันทร์ รัฐบาลทหารเมียนมาทำการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งหมด 4 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่า ให้การช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของพลเรือนเพื่อ “ทำการก่อการร้าย” ซึ่งเป็นการประหารชีวิตนักโทษครั้งแรกของประเทศในรอบหลายทศวรรษ
ซอว์ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมากล่าวในวันอังคารว่า ผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปนั้นได้เข้าสู่กระบวนการอันชอบธรรมตามกฎหมายแล้ว และย้ำว่า ทั้งหมดไม่ใช่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นฆาตกรที่สมควรได้รับโทษ
ซอว์ มิน ตุน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ว่า “นี่คือความยุติธรรมสำหรับประชาชน พวกอาชญากรทั้งหมดนี้ได้รับโอกาสที่จะแก้ต่างให้ตนเองแล้ว” และว่า “ผมรู้ว่า กรณีนี้จะนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด”
ข่าวการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาได้ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วประชาคมโลก โดยสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาประณามสิ่งที่เกิดขึ้นและกล่าวหารัฐบาลทหารเมียนมาว่า กระทำการอันโหดร้าย ด้วย
SEE ALSO: อัพเดท: สหรัฐฯ-ยูเอ็น ประณามเมียนมาประหารชีวิต 4 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
เหล่าเพื่อนบ้านของเมียนมาที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นอีกกลุ่มที่ออกแถลงการณ์ประณามในวันอังคารซึ่งระบุว่า การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “เรื่องที่รับไม่ได้อย่างมาก” และมีผลเสียอย่างร้ายแรงต่อความพยายามทั้งหมดในภูมิภาคนี้เพื่อบรรเทาภาวะวิกฤต
แถลงการณ์ของอาเซียนจากกัมพูชา ซึ่งทำหน้าที่ประธานหมุนเวียนกลุ่มในปีนี้ ยังระบุด้วยว่า ทางกลุ่ม “รู้สึกกระวนกระวายใจอย่างถึงที่สุดและเศร้าใจอย่างสุดซึ้งต่อข่าวการประหารชีวิต” และว่า “การดำเนินการลงโทษประหารชีวิตเพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 55 เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างมาก” พร้อมชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึง การที่รัฐบาลทหารแสดงออกอย่างน่ารังเกียจถึง “การไร้ซึ่งความตั้งใจ” ที่จะช่วยผลักดันแผนสร้างสันติของอาเซียนที่องค์การสหประชาติให้การสนับสนุนอยู่
ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การประหารชีวิตครั้งนี้เป็นไปในรูปแบบใดและเกิดขึ้นเมื่อใด โดยครอบครัวของผู้ที่ถูกสั่งประหารชีวิตเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า ไม่เคยได้รับการแจ้งเกี่ยวกับการประหารชีวิตล่วงหน้า และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อรับศพด้วย
ซอว์ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียน กล่าวว่า การนำส่งศพคืนให้กับครอบครัวนั้นเป็นหน้าที่ของหัวหน้าเรือนจำที่จะตัดสินใจ
ขณะเดียวกัน ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในวันอังคารว่า มาเลเซียเห็นว่า การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในเมียนมานั้น เป็น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และกล่าวหารัฐบาลทหารด้วยว่า ทำการเยาะเย้ยแผนสร้างสันติภาพของอาเซียน และว่า รัฐบาลทหารควรถูกห้ามไม่ให้ส่งตัวแทนด้านการเมืองมาร่วมการประชุมรัฐมนตรีระหว่างประเทศในทุกเวที
ทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวว่า ตนรู้สึกกังวลว่า การประหารชีวิตผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และว่า “มีสัญญาณบ่งชี้ว่า รัฐบาลทหารเมียนมานั้นตั้งใจจะเดินหน้าทำการประหารชีวิตทุกคนที่ได้รับโทษดังกล่าว พร้อม ๆ กับการเดินหน้าถล่มระเบิดหมู่บ้านต่าง ๆ และควบคุมตัวประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั่วประเทศต่อไป”
รอยเตอร์ยังอ้างแหล่งข่าวของตนในรายงานว่า เกิดการประท้วงหนึ่งครั้งภายในเรือนจำในนครย่างกุ้งที่เป็นที่คุมขังนักเคลื่อนไหวที่ถูกประหารไป ขณะที่ สื่อ Myanmar Now เปิดเผยว่า นักโทษบางรายถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำทำร้ายก่อนจะถูกแยกตัวไปคุมขังต่างหากด้วย
รอยเตอร์พยายามติดต่อโฆษกของเรือนจำอินเส่งและกรมราชทัณฑ์เมียนมาเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาขณะจัดทำรายงานข่าวนี้
ทางด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government - NUG) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบาลเงาและรัฐบาลทหารเมียนมากล่าวหาว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” เดินหน้าเรียกร้องในวันอังคารให้นานาชาติร่วมมือกันดำเนินการกับรัฐบาลทหาร พร้อมกล่าวว่า ผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปนั้นเป็น “ผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อทำตามความมุ่งมั่นที่จะช่วยเมียนมาให้มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย”
- ที่มา: รอยเตอร์