สหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ พร้อมทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนออกมาประณามผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่สั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คน ในข้อหา "สนับสนุนการก่อการร้าย" ในวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นการประหารชีวิตนักโทษการเมืองครั้งแรกของเมียนมาในรอบหลายสิบปี
สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “สหรัฐฯ ขอประณามด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุดต่อการที่รัฐบาลทหารพม่าทำการชั่วร้ายที่สั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้นำ(รัฐบาล)ที่ได้รับการเลือกตั้งมา”
สหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา “ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรม และให้เปิดทางให้(ประเทศ)กลับคืนสู่เส้นทางอันสันติสู่ประชาธิปไตย ตามความปรารถนาของประชาชนชาวพม่า” ด้วย
สื่อรัฐของเมียนมารายงานว่า นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คนถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนมกราคม จากข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเขา “ก่อการร้าย” ที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกองทัพที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปีที่แล้ว
ผู้ที่ถูกประหารชีวิต 4 คน คือ จอว์ มิน ยู หรือ "จิมมี", เพียว เซยา ตอว์ อดีตนักการเมืองและศิลปินแนวฮิพฮ็อพ, ฮลา เมียว อ่อง และ อ่อง ตูรา ซอว์ จากการเปิดเผยของหนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar
รายงานชี้ว่า ทั้ง 4 คนถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของเมียนมา โดยการลงโทษนั้นมีขึ้นตามกระบวนการของเรือนจำอินเส่งซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองเหล่านี้ แต่มิได้ระบุว่า เป็นการประหารชีวิตด้วยวิธีใด
ในอดีตนั้น ทางการเมียนมาใช้วิธีแขวนคอนักโทษสำหรับโทษประหารชีวิต
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว มิเชลล์ บาเชเล็ต ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ตนรู้สึกเศร้าใจอย่างมากที่ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกออกมา กองทัพเมียนมายังเลือกที่จะทำการประหารชีวิตโดยไม่สนใจถึงสิทธิมนุษยชน และว่า “ก้าวย่างที่โหดร้ายและเหมือนเป็นการถอยหลังกลับนี้ คือการแผ่ขยายแผนการกดขี่ประชาชนของตนอย่างต่อเนื่อง”
บาเชเล็ต ยังระบุด้วยว่า “การประหารชีวิตนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในเมียนมาในรอบหลายทศวรรษ คือการละเมิดอย่างอำมหิต ต่อสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิต มีเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล รวมทั้งการรับประกันการไต่สวนอย่างยุติธรรม และการที่กองทัพเดินหน้าเข่นฆ่าผู้คนต่อไปนี้ ก็มีแต่จะทำให้ตนตกอยู่ในวังวนของวิกฤตที่ตัวเองก่อขึ้นลึกเข้าไปอีก”
ส่วน โยชิมะ ฮายาชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “เรื่องนี้ขัดต่อคำเรียกร้องที่เรานำส่งมาตลอด ว่าให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังเป็นอิสระ และยังทำให้ความรู้สึกของประชาชน(ชาวเมียนมา) รุนแรงขึ้น และทำให้ความขัดแย้งย่ำแย่ลงไปอีก ทั้งยังจะทำให้ภาวะที่เมียนมาถูกกีดกันออกจากประชาคมโลกยิ่งหนักขึ้น ทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นที่น่ากังวลยิ่ง”
ทางด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government - NUG) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบาลเงาของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้ออกมาประณามการประหารชีวิตครั้งนี้ โดยระบุว่า "เป็นความเศร้าสลดอย่างยิ่ง... ขอประณามความโหดร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลทหารในระดับรุนแรงที่สุด" และว่า "ประชาคมโลกควรร่วมกันลงโทษความโหดร้ายในครั้งนี้"
ทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุในแถลงการณ์ว่า "รู้สึกตกตะลึงและเศร้าเสียใจอย่างยิ่งต่อข่าวการประหารชีวิตนักสู้ผู้รักชาติและผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของเมียนมา" และว่า "การกระทำที่ต่ำช้านี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับประชาคมโลก"
เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน มีจดหมายขอให้รัฐบาลทหารเมียนมางดเว้นการลงโทษประหารชีวิต โดยระบุว่าบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเป็นกังวลอย่างยิ่งในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพเมียนมาแถลงปกป้องการใช้โทษประหารชีวิต โดยบอกว่าหลายประเทศต่างใช้การลงโทษวิธีนี้ และว่า "มีประชาชนบริสุทธิ์อย่างน้อย 50 คน รวมทั้งสมาชิกกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา ที่ต้องจบชีวิตลงเพราะนักโทษเหล่านี้"
องค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในเมียนมา Assistance Association of Political Prisoners (AAPP) ระบุว่า ครั้งสุดท้ายที่เมียนมาใช้โทษประหารชีวิต คือปลายทศวรรษ 1980
AAPP เปิดเผยด้วยว่า มีประชาชนถูกกองทัพเมียนมาสังหารไปแล้วมากกว่า 2,100 คน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
- ที่มา: รอยเตอร์