Your browser doesn’t support HTML5
วันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปีมักเป็นวันที่ชาวเกาหลีใต้ผู้มีใจรักประชาธิปไตยหวนระลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดที่เมืองกวางจูในปีพ.ศ. 2523 ซึ่งรัฐบาลทหารของเกาหลีใต้ส่งกำลังเข้าปราบปรามนักศึกษาที่เดินขบวนประท้วงอย่างนองเลือด
และสำหรับปีนี้ซึ่งครบรอบ 41 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวเกาหลีใต้ร่วมส่งกำลังใจให้กับนักต่อสู้ในเมียนมา ซึ่งถึงแม้ประเทศทั้งสองจะมีเส้นทางเดินที่คล้ายคลึงกัน แต่ประเทศหนึ่งนั้นกลับมีประชาธิปไตยที่เบ่งบาน ขณะที่ในอีกประเทศนั้นหนทางยังค่อนข้างมืดมน
SEE ALSO: กองกำลังต้านรัฐบาลทหารเมียนมาถอยร่นหลังถูกโจมตีหนัก ประชาคมโลกเรียกร้องยุติความรุนแรง
ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2518 เกาหลีใต้กับเมียนมาซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อเดิมว่าพม่า ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นประเทศทั้งสองก็มีเส้นทางการต่อสู้สู่ประชาธิปไตยผ่านความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองและเหตุการณ์นองเลือด รวมทั้งการมีผู้ปกครองเผด็จการทหารที่คล้ายคลึงกัน ตามคำกล่าวของคุณอุน ฮุย ออม นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศูนย์เอเชียศึกษาของมหาวิทยาลัย Seoul National University
ตัวอย่างเช่น นายพลปาร์ค จุง ฮี ของเกาหลีใต้ ได้วางแผนยึดอำนาจเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2504 และหนึ่งปีหลังจากนั้น คณะทหารของพม่าก็เข้ายึดอำนาจและปิดประเทศเพื่อปกครองด้วยระบบสังคมนิยมเป็นเวลานานถึง 26 ปี
ต่อมาในปี 2522 นายพลชุน ดู ฮวาน ผู้นำกองทัพเกาหลีใต้อีกคนหนึ่งได้เข้ายึดอำนาจและใช้กำลังเข้าปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงปัญหาคอร์รัปชั่นและต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการที่เมืองกวางจูทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศในปี 2523 อย่างนองเลือด เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 600 คน โดยประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ยังมีโอกาสสืบทอดอำนาจเผด็จการปกครองเกาหลีใต้ต่อมาจนถึงปี 2531 หรือปีค.ศ. 1988
สำหรับในพม่าขณะนั้น ก็มีเหตุการณ์ประท้วงในวันที่ 8 สิงหาคม ปีค.ศ. 1988 เช่นกันหรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 8888 ซึ่งนักศึกษาเป็นผู้นำขบวนการลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการของพลเอกเนวิน และการประท้วงดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในวันที่ 18 กันยายนของปีเดียวกัน จากการปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณของรัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้น ซึ่งคาดว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตไประหว่าง 3,000 ถึง 10,000 คน ถึงแม้รัฐบาลพม่าจะให้ตัวเลขอย่างเป็นทางการเพียงแค่ 350 คนก็ตาม
แต่ความคล้ายคลึงในเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการนองเลือดทั้งในเกาหลีใต้กับพม่านั้นให้ผลที่แตกต่างกันในปัจจุบัน เพราะเกาหลีใต้เริ่มเปลี่ยนผ่านจากระบบเผด็จการสู่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงหลังการลงนามในสนธิสัญญาการป้องกันตนเองร่วมกันกับสหรัฐฯ ส่วนพม่าในยุคนั้น เลือกการปิดประเทศจากโลกภายนอกเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจการปกครองของคณะผู้นำทหารต่อไป
SEE ALSO: หน่วยงานอิสระสังเกตการณ์เลือกตั้งยืนยัน ไม่หลักฐานบ่งชี้การทุจริตเลือกตั้งเมียนมา
หลังการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้และจากการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ประธานาธิบดีมูน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ได้ประณามการใช้กำลังรุนแรงดังกล่าว และประกาศย้ำยืนยันจุดยืนที่สนับสนุนให้เมียนมากลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติและโดยเร็ว
ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเกาหลีใต้ที่เมืองกวางจูกับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย 8888 ของนักศึกษาพม่าในขณะนั้นล้วนมีจุดร่วมอยู่ที่ความกล้าหาญของคนรุ่นหนุ่มสาวซึ่งเป็นหัวหอกของการต่อต้านอำนาจเผด็จการ รวมทั้งจากความไม่พอใจในปัญหาคอร์รัปชั่นของคณะผู้นำทหารและการเรียกร้องทวงคืนสิทธิของตนซึ่งต้องการการเลือกตั้งอย่างเสรีและบริสุทธิ์ยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียกร้องจากพลังบริสุทธิ์เพื่อประชาธิปไตยดังกล่าวก็ถูกบดขยี้จากผู้กุมอำนาจที่ถืออาวุธในทั้งสองประเทศเหมือนกัน
อาจารย์ชอย จิน บอง ผู้สอนวิชาการสื่อสารการเมืองที่มหาวิทยาลัย Sungkonghoe ในเกาหลีใต้ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ได้แสดงว่า เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้จะไม่ประสบผลสำเร็จหากปราศจากซึ่งประสบการณ์ที่คอยเตือนใจผู้คนจากการนองเลือดที่เมืองกวางจู
และคุณอุน ฮุย ออม นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกของ Seoul National University ก็ชี้ด้วยว่า ถึงแม้เส้นทางการต่อสู้สู่ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้กับเมียนมาจะคล้ายคลึงแต่ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างในขณะนี้ก็ตาม เราก็สามารถมองวิวัฒนาการของเรื่องนี้ในลักษณะจุดต่าง ๆ หลายจุดซึ่งจะเชื่อมต่อกันและทำให้เกิดภาพรวม
เพราะนอกจากการเรียกร้องของผู้รักประชาธิปไตยในสองประเทศนี้แล้ว เรายังได้เห็นกระบวนการปฏิวัติจากพลังของประชาชนในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2529 รวมทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนในปี 2532 ในฐานะตัวอย่างที่จะช่วยให้ประชาชนของเมียนมารวบรวมพลัง ความกล้าหาญ และความเข้มแข็งเ พื่อเรียกร้องสิทธิและทวงคืนอนาคตแห่งประชาธิปไตยของตนเองในที่สุด