สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลทหารของเมียนมา โดยระบุว่า รัฐบาลทหารยังคงปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง แม้จะมีข้อตกลงให้รัฐบาลทหารเมียนมาระงับการใช้ความรุนแรงและให้เริ่มการเจรจาก็ตาม
แหล่งข่าวรายงานว่า มีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 782 คน นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุว่า กองทัพเมียนมาไม่แสดงท่าทีผ่อนปรนในการปราบปรามผู้เห็นต่างที่ยังคงเดินหน้าประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร
รูเพิร์ท โคลวิลล์ โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาสังหารผู้ประท้วงและละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา เช่น การบุกเข้าที่พักอาศัยและสำนักงานรายวัน มีผู้ถูกคุมขังกว่า 3,740 คน มีผู้ที่ไม่ทราบที่อยู่และชะตากรรมหลายร้อยคน ซึ่งอาจนำไปสู่การบังคับทำให้สูญหายได้
โคลวิลล์ ระบุว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาออกหมายจับกว่า 1,500 ฉบับ พุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมประชาสังคม สมาชิกสหภาพการค้า ผู้สื่อข่าว นักวิชาการ และบุคคลสาธารณะ เขาระบุว่า กองทัพเมียนมาควบคุมตัวสมาชิกครอบครัวของบุคคลที่เป็นที่ต้องการตัว เพื่อกดดันให้พวกเขาเข้ามอบตัวกับตำรวจ
โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุว่า นานาชาติต้องเพิ่มแรงกดดันไปยังแกนนำของกองทัพเมียนมา ให้ปฏิบัติตามแผนห้าข้อที่ตกลงกันในที่ประชุมอาเซียนเมื่อวันที่ 24 เมษายน โดยแผนดังกล่าวรวมถึงการยุติความรุนแรงโดยทันที และการเจรจากับทุกฝ่ายอย่างสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างสันติ
โคลวิลล์ระบุว่า กองทัพเมียนมาไม่ดำเนินการตามแผนดังกล่าว ทำให้ความรุนแรง การจับกุมคุมขังโดยพลการ การลี้ภัยออกนอกประเทศของชาวเมียนมา ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ทำให้เศรษฐกิจและโครงสร้างสังคมของเมียนมาได้รับความเสียหายอย่างหนัก
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องให้อาเซียนดำเนินการอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความพยายามให้กองทัพเมียนมาปฏิบัติตามแผนดังกล่าว และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศควรให้ผู้นำทหารเมียนมาแสดงความรับผิดชอบหากไม่ปฏิบัติตามแผนดังกล่าว
กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจการปกครองโดยอ้างเหตุการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ แม้ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวจะไม่มีหลักฐานยืนยันก็ตาม