การลุกฮือต่อต้านทหารเมียนมาที่โค่นรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้กองทัพที่ปกครองประเทศเผชิญความยากลำบากในการรักษาภาพลักษณ์ว่าสามารถคุมสถานการณ์ในประเทศได้
เมื่อกองทัพเดินทางเข้าสู่วันที่ 100 แห่งการครองอำนาจ ฝ่ายความมั่นคง ต้องรับมือความเหตุระส่ำระสายหลายรูปแบบ
ตั้งเเต่ความปั่นป่วนของระบบขนทางรถไฟในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์เมื่อพนักงานผละงานประท้วง ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวลักษณะเดียวกันของเจ้าหน้าที่การเเพทย์ นั่นยังไม่รวมถึงการขัดขืนและการประท้วงของภาคมวลชนในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง
สำนักข่าว Associated Press หรือเอพีรายงานว่าเหล่านายพลเมียนมาที่กุมอำนาจอยู่ในเวลานี้กำลังพยายามอย่างหนักในการรักษาภาพลักษณ์ว่าพวกเขาสามารถคุมสถานการณ์ได้
เอพีรายงานว่า “ภาพลวงตา” ที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการปิดกั้นสื่ออิสระ และการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธจนถึงเเก่ชีวิต
สื่อ The Economist ของอังกฤษ ขึ้นปกนิตยสารเมื่อเดือนเมษายน กับการพาดหัวว่า เมียนมา “คือรัฐที่ล่มสลายรายต่อไปของเอเชีย”
เมื่อเดือนที่แล้วข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มิเชล บาชาเลต กล่าวว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาและสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านสาธารณสุขของเมียนมาเข้าใกล้จุดล่มสลาย และนั่นหมายความว่าประชากรนับล้านๆคนของเมียนมาจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในช่วง 100 วันที่ผ่านมามีผู้ประท้วงเเละผู้ถูกลูกหลงโดนสังหารโดยเจ้าหน้าที่รักษาความสงบของเมียนมาไปเเล้วกว่า 750 คน
นักข่าวเมียนมา ติน เล วินที่อยู่ที่กรุงโรมประเทศอิตาลี กล่าวว่าผู้นำกองทัพอาจต้องการให้คนทั่วไปคิดว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นปกติเเล้ว จากการที่ไม่มีการฆ่าประชาชนจำนวนมากหากเทียบกับก่อนหน้านี้ และดูเหมือนว่าผู้ประท้วงจะดูบางตากว่าเเต่ก่อน
ติน เล วิน ผู้ร่วมก่อตั้งสื่อ Myanmar Now กล่าวว่าหากได้เก็บข้อมูลจากคนในพื้นที่ประเทศเมียนมาจะพบว่าเเรงต้านอำนาจรัฐภายใต้การปกครองของทหารยังมีอยู่มาก
และนักวิเคราะห์อิสระ เดวิด เเมทธีสัน ที่ศึกษาการเมืองเมียนมากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า มีคนกลุ่นหนึ่งในประเทศที่ต้องการตอบโต้ความรุนเเรงของฝ่ายความมั่นคงด้วยความรุนเเรงเช่นกัน
เขากล่าวว่าถ้าคนเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือด้านทรัพยากรและมีผู้นำที่พร้อมจะใช้ยุทธวิธีรุนเเรง อาจเกิดการปะทะด้วยอาวุธในหลายเขตเมืองภายในประเทศ
ทั้งนี้กลุ่มชนกลุ่มน้อยติดอาวุธเช่นคะฉินที่เหนือและกะเหรี่ยงทางตะวันออก ได้เคยประกาศให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประท้วงร่วมต่อต้านทหารของรัฐบาลเมียนมา หรือทัตมาดอว์
ในทางทฤษฎี อาจเกิดยุทธศาสตร์ประสานแรงระหว่างผู้ประท้วงและกองทัพชนกลุ่มน้อยเพื่อต้านอำนาจทัตมาดอว์ และอาจนำมาซึ่งเกมรุกที่ใช้อาวุธต่อสู้โดยกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น
แต่ในทางปฏิบัติศักยภาพและยุทธวิธีรบของชนกลุ่มน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ของพวกตน นอกจากนี้เเสงยานุภาพทางทหารของกองทัพรัฐบาลกลางก็ยังมีมากกว่า
เเละเมื่อพิจารณาว่า พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้คุมอำนาจการปกครองประเทศ ณ ขณะนี้ไม่สนใจคำเเนะนำให้เกิดการเจรจาเพื่อยุติความขัดเเย้งที่สหประชาชาติเเละสมาคมอาเซียนเสนอมา เดวิด เเมทธีสัน กล่าวว่าการต่อสู้ในหลายรูปแบบน่าจะคงดำเนินต่อไป
เขากล่าวว่า ประชาชนอาจมองถึงความพยายามที่จะดำเนินการหยุดงานประท้วง ขับเคลื่อนการเรียกร้องอย่างสันติและหยิบอาวุธขึ้นสู้ตามเขตเมืองเเละเขตชนบท ไปพร้อมๆ กับ ด้วยจุดหมายร่วมที่จะเอาชนะกองทัพทัตมาดอว์อันเเข็งเเกร่ง