มาตรการควบคุมโควิดของเมียนมาระส่ำหนักตั้งแต่เกิดรัฐประหาร

FIDemonstrators from the Dawei Technological University along with others march to protest against the military coup, in Dawei, Myanmar April 9, 2021 in this still image from a video. (Courtesy Dawei Watch/via Reuters)

กลุ่มความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มเปิดเผยว่า ความพยายามควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสในเมียนมา ระส่ำหนักนับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า จะเกิดการระบาดใหญ่ระลอกที่ 3 ในเร็วๆ นี้

แหล่งข่าวในเมียนมา บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอ ว่า การชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีส่วนทำให้การควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เสียศูนย์ หลังจากแพทย์และพยาบาลนับพันหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อร่วมการประท้วงด้วย โดยสื่อท้องถิ่น Frontier Myanmar รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขถึงกว่า 60,000 คน ที่ร่วมประท้วงหยุดงานแล้ว โดยอ้างข้อมูลจากกระทรวงสุขภาพและกีฬาของประเทศ

เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies - IFRC) ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า ความวุ่นวายจากปัญหาการเมืองในเมียนมา “กลายมาเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อความพยายามควบคุมการระบาดวงกว้างของโควิด-19 แล้ว” พร้อมอ้างคำเตือนของ อเล็กซานเดอร์ มาเธโอ ผู้อำนวยการของ IFRC ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ที่กล่าวว่า เมียนมาจะต้องเผชิญกับปัญหาอันใหญ่หลวงในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จากการระบาดหนักรอบใหม่ของโควิด-19 ที่จะมาควบคู่กับวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงขึ้นและกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขิ่น ชิ่น จี หัวหน้าหน่วยงานด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของกระทรวงสุขภาพเมียนมา ปฏิเสธคำกล่าวของตัวแทนองค์การสหประชาชาติที่ว่า ระบบสาธารณสุขเมียนมาประสบวิกฤตล่มสลายไปแล้ว แต่ยอมรับว่า อัตราการตรวจการติดเชื้อรายวันของประเทศตกฮวบหนักจากระดับ 25,000 ครั้ง มาอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 ครั้งแล้ว

ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในเมียนมาอยู่ในขาลงเช่นกัน โดยการยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจากระดับ 200 รายต่อวัน ในช่วงวันที่ 5 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ลงมาเหลือศูนย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ขิ่น ชิ่น จี ยอมรับด้วยว่า สาเหตุของการลดลงนั้นเป็นเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจ

Healthcare workers pose for a picture at the Ayawaddy coronavirus disease (COVID-19) treatment center in Mandalay, Myanmar February 3, 2021. Prof Cho Mar Lwin/Handout via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. NO RESALE

นอกจากนั้น แหล่งข่าวจากกลุ่มความช่วยเหลือกลุ่มหนึ่งที่ทำงานในภาคสาธารณสุขของเมียนมา บอกกับ วีโอเอ ว่า โรงพยาบาลและคลินิกของรัฐมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพราะเจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติงานเพื่อเข้าร่วมการประท้วง จนบางแห่งต้องปิดทำการไปแล้ว

ในส่วนของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 นั้น เมียนมาเริ่มทำการฉีดเข็มแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม หรือ ก่อนการก่อรัฐประหารไม่กี่วัน และหัวหน้าหน่วยงานด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของกระทรวงสุขภาพเมียนมากล่าวว่า จนถึงบัดนี้ มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1.4 ล้านเข็ม โดยผู้รับส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล

ก่อนเกิดเหตุรัฐประหารนั้น รัฐบาลเมียนมาตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 54 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ แต่กระทรวงสุขภาพยอมรับว่า เป้าหมายนั้นเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น และไม่แน่ใจว่า รัฐบาลทหารจะทำสำเร็จหรือไม่