หลังการเกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลอินเดียต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการทางนโยบายกับเมียนมา เพราะความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของประเทศเพื่อนบ้าน และความกลัวว่าการโดดเดี่ยวกองทัพเมียนมาจะยิ่งทำให้เมียนมาหันไปใกล้ชิดกับประเทศจีนมากขึ้น
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกชาติอื่นได้ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันกองทัพเมียนมาที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายร้อยคน นักวิจารณ์บางคนตั้งคำถามว่าทำไมอินเดีย ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ออกมาประณามเมียนมาให้รุนแรงกว่านี้
นักวิเคราะห์ชี้ว่า รัฐบาลอินเดียมองว่าการใช้มาตรการลงโทษต่าง ๆ อาจจะไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่การปลดชนวนความตึงเครียดในเมียนมา
นายฮาร์ช แพนท์ หัวหน้าโครงการ Strategic Studies ที่มูลนิธิ Observer Research Foundation ในกรุงนิวเดลี ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า อินเดียมองว่าการรักษาช่องทางการสื่อสารกับกองทัพเมียนมาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะอินเดียไม่ต้องการให้เมียนมาต้องอยู่ในภาวะถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก จนต้องหันไปหาจีน ที่จะกลายเป็นประเทศเดียวที่ยังรักษาสัมพันธ์อันดีกับเมียนมาเอาไว้
นาย เค นาคราช ไนดู รองผู้แทนถาวรของอินเดียประจำสหประชาชาติ กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการประชุมเกี่ยวกับเมียนมาเมื่อวันศุกร์ว่า ถึงแม้ว่าตนจะประณามการใช้ความรุนแรง แต่การตัดสัมพันธ์กับเมียนมาจะสร้างภาวะสุญญากาศ ซึ่งจะไม่เป็นผลดี อินเดียจึงสนับสนุนให้มีการดำเนินการกับเมียนมาในทุกรูปแบบ เพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสูญเสียมากกว่านี้
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อินเดียแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น หลังจากที่สถานการณ์ในเมียนมาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ โดยได้เรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนแรง และให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคนที่ยังถูกควบคุมตัวเอาไว้
นายอรินธรรม แบกชี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในเดือนนี้ว่าอินเดียสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา และพร้อมที่จะรับบทบาทคนกลางในการแก้วิกฤติของประเทศเพื่อนบ้าน
ก่อนหน้านี้ เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมอินเดียจึงส่งทูตทหารเข้าร่วมขบวนพาเหรดในวันกองทัพเมียนมา (Armed Forces Day) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างหนัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 คน และทำให้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยออกมาประณามการเข้าร่วมของอินเดียในครั้งนั้น
อินเดียเป็นหนึ่งในแปดประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ส่งตัวแทนไปร่วมในการเฉลิมฉลองวันกองทัพเมียนมา นอกจากอินเดีย ยังมีประเทศ จีน ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม ลาว ไทย และรัสเซีย
นายกอทัม มุกโคปัทยา อดีตทูตอินเดียประจำเมียนมากล่าวว่า เขาไม่คิดว่าการเข้าร่วมงานของอินเดียเป็นการแสดงว่าอินเดียสนับสนุนและยอมรับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา แต่เขามองว่า อินเดียและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการจัดการกับสถานการณ์ในเมียนมา ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพขั้นรุนแรงในประเทศ
นายมุกโคปัทยากล่าวว่า เดิมพันของอินเดียนั้นแตกต่างไปจากเดิมพันของประเทศตะวันตกอื่น ๆ เขาจึงคิดว่าอินเดียน่าจะใช้สายสัมพันธ์ใด ๆ ที่มีกับกองทัพเมียนมาเพื่อเจรจากับนายพลผู้กุมอำนาจในประเทศ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียได้สานสัมพันธ์กับรัฐบาลเมียนมาเพื่อต้องการลดทอนอิทธิพลของจีน เมียนมาเป็นประเทศที่จีนต้องการใช้ผ่านเพื่อเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นน่านน้ำที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จีนต้องการเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น
กองทัพเมียนมาได้ร่วมมือกับอินเดียในการทำลายแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อการร้ายในบริเวณรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียติดกับชายแดนเมียนมา กรุงนิวเดลียยังได้เพิ่มความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและเศรษฐกิจกับเมียนมาในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์มองว่า ในช่วงแรกหลังจากการทำรัฐประหาร รัฐบาลกลางอินเดียทำผิดพลาดที่ออกคำสั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาหลบหนีข้ามชายแดนเข้ามาในเขตอินเดีย และให้ส่งผู้ลี้ภัยกลับ
อย่างไรก็ตาม รัฐในทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียได้เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา และยังให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภียประมาณ 700 คนที่หนีข้ามชายแดน ซึ่งหลายคนมีความผูกพันด้านเชื้อชาติกับคนอินเดีย
นายมุกโคปัทยา ทูตอินเดียประจำเมียนมาระหว่างปี พ.ศ.2556-2559 กล่าวว่ากองทัพเมียนมา “ประเมินผิดพลาดอย่างมาก” และจะประสบกับความยากลำบากในการปราบปรามการประท้วงของประชาชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น เขาบอกว่าเขายังเชื่อว่าอินเดียจะเลือกที่จะ “ยืนเคียงข้างประชาชน” ชาวเมียนมา
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เห็นด้วยกว่าการใช้มาตรการเพื่อโดดเดี่ยวเมียนมาไม่ใช่ทางเลือกของกรุงนิวเดลี โดยเฉพาะในภูมิศาสตร์การเมืองโลกในปัจจุบัน ที่หลายคนมองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการโดดเดี่ยวเมียนมา หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง เมื่อนั้นก็จะเป็นโอกาสที่จีนจะเข้ามาเต็มเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นนั้นทันที