ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ยูเอ็น’ จี้กองทัพปล่อยนักโทษการเมือง-ยุติความรุนแรงในเมียนมา


Myanmar
Myanmar

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวผู้ที่กองทัพจับกุมไปหลังเหตุรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ รวมถึงนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และประธานาธิบดีวิน มินต์ แห่งเมียนมา พร้อมทั้งยุติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่เลวร้ายลงอย่างน่าวิตก พร้อมประณามการใช้กำลังรุนแรงของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเมียนมากับผู้ประท้วงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตนับร้อยในเมียนมา ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็ก

ทาง UNSC เรียกร้องให้กองทัพเมียนมามีความยับยั้งชั่งใจ และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและการหาหนทางเจรจาไกล่เกลี่ย บนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่อคนในเมียนมาเป็นสำคัญ

ในวันพฤหัสบดี ทนายความของนางซูจี เปิดเผยว่า นางซูจี ผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัย เจอข้อหาเพิ่มอีกในวันพฤหัสบดี ระบุว่า นางซูจี ละเมิดกฎหมายความลับของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่มีมาตั้งแต่เมียนมายังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรอยู่ และถือเป็นข้อหาร้ายแรงที่สุดที่นางซูจีได้รับ นับตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ เพราะหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง เธออาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี

อีกด้านหนึ่งในวันเดียวกัน ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาเผารัฐธรรมนูญฉบับจำลองเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในขณะที่ ว่าที่สมาชิกสภาที่ถูกยึดอำนาจประกาศจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเพื่อต่อกรกับรัฐบาลทหารที่ครองอำนาจอยู่

รัฐบาลพลเรือนดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ” หรือ CPRH ประกอบด้วยสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือน โดยพวกเขาไม่สามารถครองเก้าอี้ในสภาได้ หลังกองทัพควบคุมตัวผู้นำของตนไป และยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ทาง CPRH ยังประกาศใช้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลางฉบับใหม่แทนที่ฉบับทหารร่างเมื่อปีค.ศ. 2008 โดยแม้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะเปิดทางให้เมียนมามีประชาธิปไตยหลังการปกครองของทหารมากว่า 50 ปี แต่ก็ยังคงอำนาจของกองทัพบกในรัฐบาลพลเรือนอยู่ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ CPRH นี้ เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ ที่ต่อสู้มาหลายสิบปีเพื่อให้ได้อำนาจปกครองตนเองมากขึ้น

XS
SM
MD
LG