องค์การนาซ่าจะเริ่มโครงการภาพถ่ายดาวเทียมลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเพื่อหาทางรับมือภัยธรรมชาติ

Your browser doesn’t support HTML5

Mekong Satellite

โครงการสำรวจสภาพลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การอวกาศสหรัฐหรือ NASA กับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนามและไทย กำลังจะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้ ขณะที่ทั้ง 5 ประเทศกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม และการใช้น้ำมากเกินไป

สำนักงานด้านการลดความเสี่ยงจากหายนะภัยของสหประชาชาติ หรือ UNISDR ระบุว่าต้นทุนความเสียหายจากภัยธรรมชาติทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1,700 ล้านดอลล่าร์ต่อภัยธรรมชาติแต่ละครั้ง มีผู้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติแต่ละครั้งราว 3,000 ล้านคน และผู้เสียชีวิตราว 1 ล้าน 2 แสนคน

ภายใต้โครงการสำรวจสภาพลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง องค์การนาซ่าและองค์กรเพื่อการพัฒนา USAID จะทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่น รวมทั้งศูนย์เตรียมรับมือภัยพิบัติเอเชียหรือ ADPC ในประเทศไทย เพื่อจัดหาภาพถ่ายดาวเทียมให้กับรัฐบาลของประเทศในแถบนี้

คุณ Gabrielle Iglesias เจ้าหน้าที่ของ ADPC กล่าวว่าเป้าหมายโครงการนี้คือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้วางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการจัดการน้ำ การจัดการที่ดิน และลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ

ทางเจ้าหน้าที่องค์กรเพื่อการพัฒนา USAID ระบุว่าข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมได้นั้นจะถูกส่งต่อไปยังนักวิทยาศาสตร์ ผู้แทนรัฐบาล ผู้บริหารด้านทรัพยากรธรรมชาติ และนักวิเคราะห์ด้านภัยธรรมชาติ เพื่อให้สามารถหาวิธีรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณ Gabrielle Iglesias แห่ง ADPC บอกด้วยว่าเหตุการณ์พายุไซโคนนาร์กิสถล่มพม่าเมื่อ 6 ปีก่อนซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์เตรียมรับมือภัยพิบัติเอเชียผู้นี้บอกว่า ความสำคัญของข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่ใช่แค่การเตือนภัยล่วงหน้าก่อนเกิดพายุ แต่ยังรวมถึงเส้นทางที่พายุจะพัดผ่านไปเพื่อให้ผู้คนสามารถเตรียมการอพยพได้ทันเวลา

ปัจจุบันโครงการลักษณะเดียวกันนี้กำลังดำเนินอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งในบังกลาเทศ แทนซาเนีย เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และเคนย่า เพื่อใช้ในการรับมือภัยธรรมชาติ ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ป้องกันการลักลอบฆ่าสัตว์ป่า ควบคุมการขยายพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด ตลอดจนรับมือโรคระบาดต่างๆ เช่นโรคมาลาเรีย

รายงานจาก Ron Corben - ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล