ธุรกิจอเมริกันนำเสนอ ‘แบตเตอรีดินเหนียว’ ทางเลือกสีเขียว สำหรับภาคอุตสาหรรม

  • VOA

แบตเตอรีอิฐดินเหนียว แนวคิดพลังงานสีเขียวใหม่

พลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากกังหันลมหรือโซลาร์เซลล์ มีราคาถูกกว่าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การเชื่อมต่อพลังงานสะอาดเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่ถือว่าเป็นภาคส่วนสำคัญที่สุดกลับยังขาดการพัฒนา

ในกระบวนการแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามต้องใช้ความร้อนอย่างสม่ำเสมอ หรือในบางกรณีจำเป็นต้องใช้ความร้อนตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

จอห์น โอดอนเนล ซีอีโอ บริษัท รอนโด เอ็นเนอร์จี (Rondo Energy)

จอห์น โอดอนเนล ซีอีโอ บริษัท รอนโด เอ็นเนอร์จี (Rondo Energy) ในเมืองอาลาเมดา (Alameda) รัฐแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า “ภาคการผลิตใช้พลังงานของโลกมากที่สุด ความร้อนที่ใช้ในการผลิตสินค้า คิดเป็นหนึ่งในสี่ ของ (พลังงาน) ที่ได้จากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในโลก”

พลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ผลิตได้ไม่คงที่ จึงมีแนวคิดที่จะนำวัสดุที่ผู้คนต่างละเลยอย่าง “อิฐดินเหนียว” มาทำหน้าที่เป็นแบตเตอรีกักเก็บความร้อน คล้ายกับว่า โรงงานมีแผงลวดทำความร้อนแบบเครื่องปิ้งขนมปังฝังเอาไว้

แบตเตอรีอิฐดินเหนียว ของ บริษัท รอนโด เอ็นเนอร์จี

โอดอนเนล เล่าย้อนว่า ดินเหนียวเหล่านี้เป็นวัสดุที่โลกใช้มานานกว่า 200 ปีแล้วถือว่า นำเอาวัสดุที่เคยเป็นที่นิยมจากยุค 80 มาใช้ผลิตในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสำหรับยุคปัจจุบันในศตวรรษที่ 21

สำหรับหลักการของ “แบตเตอรีดินเหนียว” นั้น ภายในจะมีลวดเหล็กในการสร้างและเหนี่ยวนำความร้อน ส่วนก้อนอิฐถูกออกแบบมาให้มีรูปทรงที่ซับซ้อนเพื่อกระจายความร้อนอย่างสม่ำเสมอและกักเก็บพลังงานไว้นานหลายวัน

จอห์น โอดอนเนล ซีอีโอ บริษัท รอนโด เอ็นเนอร์จี (Rondo Energy) อธิบายรายละเอียดของนวัตกรรมแบตเตอรีอิฐดินเหนียวให้กับผู้สื่อข่าว

ซีอีโอ บริษัท Rondo Energy กล่าวว่า “อิฐ (ดินเหนียว) เพียงก้อนเดียว จะเก็บพลังงานได้มากเท่ากับชุดแบตเตอรีของ เทสลา โมเดล เอ็กซ์ (Tesla Model X)” ในการสร้างคลังกักเก็บพลังงานหนึ่งจุด จะใช้อิฐดินเหนียวซ้อนกันประมาณ 3,000 ชิ้น

คลังกักเก็บความร้อนจากก้อนอิฐสามารถทำให้อากาศมีอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียสซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำความร้อนดังกล่าวไปใช้ได้ในการผลิตอาหาร เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้

ภาพกราฟฟิกแสดงการทำงานของแบตเตอรีอิฐดินเหนียว

ทั้งนี้ ผลงานแบตเตอรีดินเหนียวของบริษัท Rondo Energy ถูกนำไปใช้ครั้งแรกปี 2023 ที่โรงงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

โอดอนเนล กล่าวทิ้งท้ายว่า การทดแทนระบบเผาไหม้ด้วยการใช้พลังงานจากลมและแสงแดดจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถึงครึ่งหนึ่ง

ในเวลานี้ โรงงานฐานการผลิตขนาดใหญ่สำหรับแบตเตอรีก้อนอิฐตั้งอยู่ในประเทศไทย ขณะที่ บริษัทแห่งนี้มีแผนการสร้างโรงงานแบตเตอรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ และกำลังอยู่ในกระบวนการเจรจากับบริษัท EDP ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ เพื่อจะทำหน้าที่จัดหาพลังงานความร้อนที่ไร้ก๊าซคาร์บอนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป้ด้วย

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดพลังงานจากอิฐดินเหนียวธรรมดา ๆ นั้นอาจกำลังก้าวขึ้นมาเป็นความหวังของอนาคตของพลังงานสะอาดโลกครั้งใหม่ได้แล้ว

  • ที่มา: วีโอเอ