Your browser doesn’t support HTML5
ปัญหาช้างป่าเข้าไปในกินพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ยังคงเป็นสาเหตุหลักให้เกิดความขัดเเย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า
แต่นักวิจัยคนหนึ่งค้นพบว่าเสียงของผึ้งช่วยไล่ช้างได้ผลดี!
ช้างป่าแอฟริกาเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีน้ำหนักตัวจนถึง 6 ตัน และอาจมีขนาดความยาวของลำตัวได้ถึง 7 เมตรครึ่ง แต่ถึงแม้จะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ มนุษย์ยังเป็นศัตรูสำคัญของช้าง มีช้างหลายหมื่นตัวถูกล้มทุกปีเพื่อตัดเอางา
คุณ Lucy King หัวหน้าโครงการการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ภายใต้หน่วยงานอนุรักษ์ Save the Elephants กล่าวว่า การล่าช้างป่าเพื่อตัดงาเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชากรช้างทั่วแอฟริกาลดลงอย่างมาก แต่ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือความขัดเเย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า
เมื่อช้างบุกเข้าพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน กัดกินพืชผลทางการเกษตรและสร้างความเสียหายทางรายได้เเก่เกษตรกร ตัวช้างป่าเองก็เสี่ยงที่จะตกอยู่ในอันตราย
คุณ King กล่าวว่าประชากรในแอฟริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพื้นที่ป่าสำหรับช้างและสัตว์ป่าขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ก็ลดลงเช่นกัน เส้นทางเดินของช้างถูกกีดขวาง มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้ช้างกับคนต้องเผชิญหน้ากันมากขึ้น
คุณ King เรียนรู้ว่า หากช้างได้ยินเสียงของฝูงผึ้ง ฝูงช้างจะเผ่นหนีไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานอนุรักษ์ช้างตั้งโครงการช้างกับผึ้งขึ้น ภายใต้โครงการนี้ คุณ King และทีมงานช่วยเกษตรกร 22 คนในพื้นที่ใกล้กับอุทยานเเห่งชาติ Tsavo East National Park สร้างและดูแลรั้วรังผึ้ง โดยมีรังผึ้งระหว่าง 10 – 21 รัง ขึ้นอยู่กับขนาดของที่ดินทำกินของเกษตรกรแต่ละคน รังผึ้งถูกสร้างขึ้นรอบๆ เขตที่ดินทำกิน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝูงช้างบุกเข้าไปไปในไร่เพื่อกินพืชผลที่ปลูกไว้
ทีมงานเฝ้าติดตามดูรังผึ้งในที่ดินของเกษตรกรแต่ละคนอย่างใกล้ชิด จดบันทึกข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับรังผึ้งแต่ละรัง และยังทำงานร่วมกันเกษตรกรเพื่อระบุลักษณะการเคลื่อนไหวของช้างในพื้นที่
นาง Charity Mwangome เกษตรกรในพื้นที่คนหนึ่ง สร้างรั้วรังผึ้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 2012 เพราะเชื่อว่าเสียงผึ้งช่วยป้องกันไม่ให้ช้างป่าเข้าไปทำลายพืชผลในไร่ เธอบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า รั้วรังผึ้งที่สร้างขึ้นได้ผล เพราะเวลามีช้างป่าเข้าไปใกล้พื้นที่ทำกิน ช้างมองเห็นรั้วรังผึ้ง ช้างจะหยุดและไม่บุกเข้าไปในไร่ เเต่จะเดินอ้อมพื้นที่ทำกินเเทน
คุณ King บอกว่า รั้วรังผึ้งซึ่งนอกจากจะได้ผลราว 80 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันไม่ให้ช้างเข้าไปในที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่งด้วยจากการขายน้ำผึ้ง
สำหรับเกษตรกรที่มีรายได้โดยเฉลี่ยต่อปีที่ 300 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือน้อยกว่าวัน 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายน้ำผึ้งแม้จะเพิ่มขึ้นแค่ 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร
ด้านคุณ Matthew Rudolph เจ้าหน้าที่ประสานงานศูนย์วิจัยโครงการช้างกับผึ้ง กล่าวว่าปัญหาใหญ่ที่สุดที่ประสบในตอนนี้ คือความต้องการซื้อน้ำผึ้งจากโครงการสูงมาก
เขากล่าวว่าน้ำผึ้งขายดีจนบรรจุลงขวดแทบไม่ทัน เเละรายได้เสริมนี้ก็ช่วยสร้างความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าแก่ทั้งเกษตรกรและช้างป่าในเคนยา
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)