ตามปกติสัตว์ขนาดใหญ่มีจำนวนเซลล์มากกว่าสัตว์พันธุ์ที่เล็กกว่า โอกาสที่เซลล์จะเกิดความผิดปกติจึงมีมากกว่าตามสัดส่วนของจำนวนเซลล์ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาโรคมะเร็งในช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ พวกเขาแปลกใจว่าเหตุใดช้างจึงมีความเสี่ยงน้อยกว่ามนุษย์มากต่อการเป็นมะเร็ง คือเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น เทียบกับร้อยละ 11 ถึง 25 ในมนุษย์
นักวิจัยพบว่าช้างมีหน่วยพันธุกรรมที่ชื่อ p53 ซึ่งสามารถระงับการเกิดมะเร็งได้ จำนวน 20 หน่วยพันธุกรรม ส่วนมนุษย์นั้นมียีน p53 เพียงแค่หน่วยเดียวเท่านั้น
Wendy Kiso นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ช้าง จาก Ringling Brothers Center for Elephant Conservation เขียนหนังสือเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยพันธุกรรมนี้ในช้าง เธอและผู้ร่วมงานที่มหาวิทยาลัย Utah และที่สวนสัตว์ Hogel ในสหรัฐฯ ศึกษาเซลล์เม็ดเลือดขาวของช้างเอเชีย ที่นำมาเปรียบเทียบกับเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์
Wendy Kiso กล่าวว่านักวิจัยในทีมของเธอดูว่าเซลล์ของช้างเอเชียเหล่านี้มีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไร เมื่อถูกฉายรังสีที่ตามปกติจะเป็นการกระตุ้นในเกิดมะเร็ง วิธีนี้ผู้วิจัยสามารถรู้ถึงการทำงานของหน่วยพันธุกรรม p53 อย่างใกล้ชิด
คณะผู้ทดลองพบว่ายีน p53 ช่วยให้เซลล์ที่มีความเสี่ยงเป็นเซลล์มะเร็งลดลงสองเท่า เพราะสามารถหยุดยั้งความผิดปกติไม่ให้พัฒนาต่อไปในทางที่อันตราย
การค้นพบจากงานวิจัยนี้อาจสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรค Le-Fraumeni Syndrome ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยที่มาจากพันธุกรรม ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับโรคนี้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งถึงร้อยละ 90
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง Joshau Schiffman จากสถาบัน Huntsman Cancer Institute ที่มหาวิทยาลัย Utah ที่ร่วมค้นคว้าในงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า ขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกกำลังพยายามศึกษาว่าจะใช้ประโยชน์จากหน่วยพันธุกรรม p53 ในช้างต่อมนุษย์ในด้านใดได้บ้าง
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าควรมีการศึกษาเพิ่มติมต่อในหัวข้อนี้ในอนาคต และตั้งข้อสังเกตว่า หากช้างไม่มียีน p53 มากมายอย่างที่เป็นอยู่ เผ่าพันธุ์ของมันน่าจะสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Journal of American Medical Association
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)