ช้างป่าแอฟริกาถือเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมที่ช้างอาศัยอยู่อย่างยิ่งยวด แต่ปัจจุบัน ประชากรช้างแอฟริกากำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการค้าขายงาช้างเถื่อน ยังมีคนอีกจำนวนมากที่นิยมซื้องาช้างเถื่อนโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
ศาสตราจารย์ Sam Wasser ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัย University of Washington กับทีมนักวิจัยได้คิดค้นการตรวจดีเอ็นเองาช้างเถื่อนเพื่อช่วยระบุที่มาของงาช้าง ทางทีมงานได้ตรวจดีเอ็นเอตัวอย่างงาช้างที่เจ้าหน้าที่ในประเทศต่างๆ ยึดได้ระหว่างปีคริสตศักราช 1996 ถึง 2014
ศาสตราจารย์ Wasser กล่าวว่าเราสูญเสียช้างป่าแอฟริกาไปราว ปีละ 50,000 เชือกเนื่องมาจากการลักลอบล่าช้างเพื่อตัดงาและคาดว่าน่าจะมีประชากรช้างป่าแอฟริกาเหลืออยู่ราว 470,000 เชือก ถือได้ว่าเราสูญเสียช้างป่าแอฟริกาปีละหนึ่งในสิบของจำนวนช้างทั้งหมด โดยวิธีที่ดีที่สุดในการหยุดยั้งการลักลอบล่าช้างป่าเพื่อตัดงาคือการเลิกซื้องาช้างซึ่งเป็นงานที่ยากและต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ศาสตราจารย์ Wasser จึงเห็๋นว่าควรหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันการลักลอบล่าช้างไปพร้อมๆ กัน
ศาสตราจารย์ Wasser ชี้ว่าจำนวนช้างป่าแอฟริกาที่ลดจำนวนลงเริ่มส่งผลเสียต่อระบบนิเวศวิทยาหลักๆ และต่อเศรษฐกิจของแอฟริกาแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติต่างๆ ในทวีปอีกด้วย หากเรายังไม่สามารถลดการล่าช้างป่าลงได้ ผลกระทบเหล่านี้ต่อทวีปแอฟริกาจะรุนแรงมากขึ้น
ทีมนักวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ Wasser ใช้ดีเอ็นเองาช้างเป็นตัวระบุแหล่งกำเนิดของช้าง พวกเขาใช้ตัวอย่างงาช้างเถื่อนที่ได้จากของกลางที่ยึดได้ครั้งใหญ่ๆ หลายครั้งในการศึกษานี้ เป็นงาช้างจากของกลางที่ยึดได้ทั้งหมด 28 ครั้ง ของกลางที่ยึดได้แต่ละครั้งมีน้ำหนักอย่างน้อยหนึ่งครึ่งตันและมีมูลค่าอย่างน้อยหนึ่งล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ศาสตราจารย์ Wasser กล่าวกับวีโอเอว่าปริมาณงาช้างเถื่อนของกลางที่ยึดได้และมูลค่าของงาช้างแสดงให้เห็นว่านี่เป็นงานของเครือข่ายกลุ่มอาชญากรรมระดับนานาชาติซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีเงินทุนสูงจึงไม่สะทกสะท้านหากของกลางมูลค่าเป็นล้านๆ ดอลล่าร์สหรัฐถูกยึดไป ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา งาช้างเถื่อนที่ยึดได้เกือบทั้งหมดมาจากสองจุดในแอฟริกา ส่วนมากเป็นฝีมือของเครือข่ายอาชญากรรม ดีเอ็นเอของงาช้างที่ยึดได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่พบในตัวอย่างมูลของช้างจำนวน 1,500 ตัวอย่าง
ศาสตราจารย์ Wasser กล่าวว่าทีมงานพบว่างาช้างเถื่อนที่ยึดได้มาจากสองแหล่งใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งมาจากช้างป่าในเขต Triduum ในแอฟริกากลาง ที่กินบริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกาบองกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของคองโก ตลอดจนพื้นที่ที่ติดกับประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
แต่แหล่งที่มาของงาช้างใหญ่ที่สุดอยู่ในทางใต้ของประเทศแทนซาเนีย โดยประมาณว่าสองในสามของงาช้างเถื่อนที่ยึดได้มาจากจุดนี้ซึ่งเป็นจุดที่ติดกับทางเหนือของโมซัมบิค
เขาชี้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับดีเอ็นเอของงาช้างนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่วางแผนรับมือกับกลุ่มลักลอบช้างป่าได้เจาะจงมากขึ้น การวิจัยนี้ชี้ว่าเทคนิคการตรวจดีเอ็นเองาช้างเถื่อนอาจจะนำไปประยุกต์กับสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ได้ด้วย
หัวหน้าทีมวิจัยชี้ว่าในที่สุดแล้ว การตรวจดีเอ็นเองาช้างจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทางการประเทศต่างๆ สร้างความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อปราบปรามการลักลอบค้าขายงาช้างเถื่อนได้