สัมภาษณ์พิเศษ 'วราวุธ' ตั้งเป้าไทยปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2564

Thailand's Minister of Natural Resources and Environment, Varawut Silpa-archa talks with VOA Thai in New York City, New York.

Your browser doesn’t support HTML5

Interview Thai Environment Minister

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ระหว่างเยือนนครนิวยอร์ก ร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อร่วมประชุม Climate Action Summit เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 74 ที่เพิ่งจบลงไป มีวาระสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมากับคณะของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเข้าร่วมประชุม Climate Action Summit ในครั้งนี้ด้วย

ในครั้งนี้ รมต.วราวุธ ได้ขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมระดับสูงของกลุ่มพันธมิตรว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด หรือ Climate and Clean Air Coalition (CCAC) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก โดยมุ่งเน้นที่เรื่องการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะแบบข้ามพรมแดน หรือ Trans-boundary pollutions

เราตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2564 จะเป็นปีที่ไทยจะปลอดจากถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


"ในขณะนี้ถือเป็น Hot issue ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ไฟป่าในบราซิล ทำให้แหล่งผลิตอ็อกซิเจนในโลกประมาณ 20-30% หายไปเลย ดังนั้นประเด็นการปลูกต้นไม้ การรักษาสมดุล Hot spot แต่ละแห่งในโลกกลายเป็นเรื่องสำคัญมาก ประเทศไทยเราแม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ พื้นที่ป่าในประเทศเราเหลือเพียง 31% เท่านั้น ซึ่งตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราจะต้องเพิ่มให้ได้ถึง 40%"

Thailand's Minister of Natural Resources and Environment, Varawut Silpa-archa talks with VOA Thai in New York City, New York.

รมต.วราวุธ ระบุว่า การควบคุมการปล่อยก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก คือภารกิจหนึ่งที่ไทยจะต้องทำตามข้อตกลงกรุงปารีสที่ไทยร่วมลงนามด้วย แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

"ทุกอย่างเป็นชั้นเชิงของแต่ละประเทศ เพราะบางประเทศที่พัฒนาไปถึงจุดหนึ่งแล้วก็สามารถเรียกร้องให้ลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกได้... แต่ว่าประเทศไทยต้องบาลานซ์ให้ดี เพราะเศรษฐกิจเรากำลังก้าวไปรวดเร็วมาก การควบคุมก๊าซเรือนกระจกจึงต้องทำไปพร้อมกับการรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะหากเราเอาแต่อนุรักษ์ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะทำได้ยากมาก... เราต้องพูดคุยกัน เพื่อที่ว่าในที่สุดแล้ว เราจะต้องลดอุณหภูมิโลกลงให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส"

การควบคุมก๊าซเรือนกระจกต้องทำไปพร้อมกับการรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะหากเราเอาแต่อนุรักษ์ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะทำได้ยากมาก
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


รมต.วราวุธ ยังกล่าวกับวีโอเอ ถึงการรับมือปัญหาฝุ่นควันพิษที่กำลังปกคลุมหลายพื้นที่ในประเทศไทยในขณะนี้ ว่าต้องอาศัยปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ

"ปัญหาพอลลูชั่น ถ้าเป็นในประเทศเรา เราสามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นเผาในที่โล่งแจ้ง เผาซางข้าว เผาอ้อย เราสามารถขอความร่วมมือของรัฐเพื่อช่วยควบคุมได้ แต่ถ้าเป็นแบบข้ามพรมแดน สิ่งที่เราทำได้คือทำหนังสือถึงเลขาธิการอาเซียน ในการขอความร่วมมือไปยังอีกประเทศหนึ่ง เพราะตามมารยาท การติดต่อโดยตรง เราจะกลายเป็นบุคคลที่มีปากมีเสียง และในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน การรักษาสมดุลและมิตรภาพในกลุ่มอาเซียน เป็นสิ่งสำคัญ..."

นอกจากเรื่องฝุ่นควันพิษแล้ว ปัญหาขยะพลาสติกก็เป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่งที่ รมต.วราวุธ บอกว่า ได้พยายามออกมาตรการในการแก้ไขแล้ว คือการรณรงค์ให้เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง

"ขยะพลาสติกในทะเล หรือ Marine Debris เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะ 80% ของขยะในทะเลมาจากขยะบนดิน ในวันนี้ได้ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้วว่า เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ไทยจะได้รับความร่วมมือจาก 43 เครือบริษัทใหญ่... และร้านละดวกซื้อ... เพื่องดการแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เราจะนำไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และในช่วงหนึ่งปีนี้ เราจะร่างเป็นกฎหมายงดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง... เราตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2564 จะเป็นปีที่ไทยจะปลอดจากถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง"

การที่จะบาลานซ์สิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องกับการผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าจึงเป็นการบาลานซ์ที่ยากมาก
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ในตอนท้าย รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ยังได้พูดถึง เกรตต้า ธันเบิร์ก นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปีที่ขึ้นกล่าวบนเวทียูเอ็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเป็นผู้จุดกระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมในหมู่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกด้วย

"เป็นสิ่งที่ดีที่เด็ก ๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ แต่อีกปัญหาหนึ่งที่เด็ก ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้เผชิญก็คือ ปัญหาเรื่องการรักษาความสมดุลด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ เหล่านี้จะต้องเจอ ...

ผมเองโตมาในเจนเนเรชั่นที่อยู่ในรอยต่อพอดี เราเห็นความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสังคมปลอดจากมลภาวะต่าง ๆ แต่ก็อยู่มานานพอที่จะเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ทั้งอุตสาหกรรมหนักและเบา ขนาดเล็กและขนาดกลาง การที่จะบาลานซ์สิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องกับการผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าจึงเป็นการบาลานซ์ที่ยากมาก แต่อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้เด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของโลกเราเอาไว้"