วีโอเอไทยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ณ นครนิวยอร์ก โดยครอบคลุมในประเด็นต่างๆ รวมทั้งเรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ปัญหาเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย เดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยมาร่วมประชุมครั้งที่แล้วเมื่อปี ค.ศ. 2015 ในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งนายกฯ กล่าวถึงความแตกต่างของการเดินทางมาประชุมยูเอ็นทั้งสองครั้งนี้ว่า
"การมาทุกครั้งของผมไม่เห็นความแตกต่างนะ ไม่ว่าจะมาในฐานะไหนก็ตาม จะเห็นได้ว่าครั้งก่อนผมมีโอกาสได้พบท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้รับเกียรติหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวผม แต่ภูมิใจแทนประเทศไทย... ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้เจอผู้นำประเทศต่างๆ อีก 197 ประเทศ ทุกคนก็ตอบรับผมเป็นอย่างดี"
และเมื่อถามถึงสิ่งที่สามารถนำกลับไปใช้หลังจากเดินทางกลับจากการเยือนยูเอ็นครั้งนี้ นายกฯ ประยุทธ์ กล่าวถึงการสนับสนุนนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นอันดับแรก ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญอย่างหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change สำหรับไทยก็มีเรื่องของปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งนายกฯ พูดถึงแนวทางจัดการเรื่องนี้ไว้ว่า
"ถ้าเราจะต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เราก็ต้องคิดหลายอย่าง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ต่ำ... กรุงเทพก็เป็นจุดหนึ่งที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ผมก็มีดำริว่าในอนาคตเราจะทำอย่างไรกับเมืองหลวงของเรา ไม่ใช่ว่าผมจะย้ายเมืองหลวงในตอนนี้ มันไม่ง่ายขนาดนั้น อาจจะเป็น 20-30 ปี ก็คิดกันต่อไป แต่ตอนนี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพรอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม"
ไม่ใช่ว่าผมจะย้ายเมืองหลวงในตอนนี้ มันไม่ง่ายขนาดนั้น อาจจะเป็น 20-30 ปี ก็คิดกันต่อไป แต่ตอนนี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพรอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม"นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในด้านปัญหาเศรษฐกิจ พลเอกประยุทธ์ระบุว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้ ซึ่งต้องใช้กลไกความร่วมมือของหลายฝ่ายในการแก้ไขปัญหา ทั้งในภาคประชาชน และในระดับโลก ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน
"... อย่างวันนี้ราคาสินค้าต่างๆ หรือการค้าขายในตลาดสด ตลาดต่างๆ ค่อนข้างลดลง เพราะการค้าออนไลน์เข้ามา การค้าออนไลน์ในประเทศไทยตอนนี้สูงขึ้นกว่า 300% แล้ว แต่จำนวนผู้บริโภคเท่าเดิม (ยอดขายของร้านค้าต่างๆ) ลดลง เศรษฐกิจก็แย่ ร้านค้าต่างๆ ก็ยังขายของแบบเดิมๆ อยู่ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรเขาหรอก เพียงแต่ชวนว่าจะปรับร้านใหม่ไหม มีกองทุนเอสเอ็มอี จัดร้านให้เป็นระเบียบ หาสินค้าให้ดีกว่านี้ได้ไหม... ต้องคิดอย่างนี้"
"ในเรื่องการท่องเที่ยวก็เหมือนกัน ให้เป็น E-Wallet ไม่ได้ให้สตางค์พันนึงไปเที่ยว ถ้าไม่ไปท่องเที่ยวก็ไม่ได้สตางค์นี้ เราต้องการกระตุ้นส่วนนี้... ตอนนี้ทุกคนกลัวไปหมด ทุกคนไปปั่นกันหมดว่าเศรษฐกิจแย่ๆ ทุกคนก็เลยไม่ใช้เงินไง"
สำหรับเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างมหาอำนาจสองประเทศ คือสหรัฐฯ กับจีน นายกฯ ประยุทธ์ ยืนยันว่าไทยไม่สามารถเลือกยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องรักษาสมดุลอำนาจของทั้งสองประเทศ
"วันนี้ผมได้รับคำถามอย่างนี้เสมอ ผมก็บอกว่าท่านสบายใจเถอะ เพราะทั้งสองประเทศเป็นมิตรต่อเรามายาวนาน อเมริกาก็ได้รับสิทธิประโยชน์ตั้งแต่สนธิสัญญาสมัยโบราณ มีสิทธิประโยชน์เท่ากับคนไทยทุกประการในการประกอบธุรกิจ ส่วนจีน มีคนไทยตั้งกี่ล้านคนที่มีเชื้อสายจีน ทั้งหมดก็ช่วยสร้างธุรกิจของเรามาตลอด วันนี้การลงทุนและการค้า มีทั้งสองประเทศนี้นี่ล่ะที่อยู่ในอันดับหนึ่งและสอง"
และในฐานะที่ไทยเป็นผู้นำในด้านการปราบปรามยาเสพติด หลังจากที่มีข่าวรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดนี้พัวพันเรื่องยาเสพติด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีโลก พลเอกประยุทธ์ได้ระบุถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า
ถ้าเขาผิด ถ้าเขาฟ้องมา แล้ว ปปช.สรุปแล้วว่าผิด ผิดก็คือผิด ผมปกป้องให้ไม่ได้ เพราะเขารับรองในประวัติเขาอยู่แล้ว และยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็จบแค่นี้... "นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
"เรื่องนี้ผมคิดว่าต้องให้ความเป็นธรรมพอสมควร ในส่วนของรัฐบาลเอง ในเรื่องการคัดกรองคนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เรามีการตรวจสอบอยู่แล้ว เป็นการตรวจสอบในชั้นต้นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกคนต้องกรอกข้อมูลของตัวเอง แล้วก็ส่งไปให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบตามข้อมูลที่มีอยู่ แต่ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะทำผิดที่ไหนก็ตาม เขาจะลงท้ายว่า ข้าพเจ้าจะขอรับผิดชอบรับรองในประวัติที่กรอกทุกประการ ตัวนี้ล่ะถ้าผิด และไปร้อง ปปช. เขาก็ต้องยอมรับผิดตัวนี้... ผมเองก็ต้องกรอก กฎหมายเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าจะเอากฎหมายต่างประเทศมา... ก็มาสิครับ เอาข้อมูลมา ก็ฟ้อง ปปช. ไป..."
"... การคัดกรองคนเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ผมคนเดียว หลายคนก็ต้องมาดู พรรคการเมืองก็เสนอเข้ามา ผมก็ต้องตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ตัวนี้ ที่ใช้มาทุกรัฐบาล... ถ้าเขาผิด ถ้าเขาฟ้องมา แล้ว ปปช.สรุปแล้วว่าผิด ผิดก็คือผิด ผมปกป้องให้ไม่ได้ เพราะเขารับรองในประวัติเขาอยู่แล้ว และยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็จบแค่นี้... เพราะฉะนั้นมันเป็นประเด็นทางการเมืองไปด้วย..."
(ผู้สื่อข่าวถาม: นั่นหมายความว่าถ้ามีการปรับคณะรัฐบาลชุดต่อไป?) "ก็เขาผิดไหมล่ะ ถ้าผิดก็เอาออก ใครผิดก็เอาออกหมด ผมผิดก็ต้องออก ถูกไหมล่ะ"
นายกฯ ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับป้ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลไทย ที่ติดไว้หน้าทางเข้ายูเอ็น รวมทั้งการประท้วงของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งบริเวณหน้าโรงแรมที่พักของคณะเจ้าหน้าที่ไทยด้วย
"ผมไม่สนใจเรื่องการประท้วง ถ้ามีการประท้วงแสดงว่าผมทำได้ดี ถ้าผมทำไม่ดีเขาก็คงเฉยๆ เขาก็ปล่อยให้ผมตายไป... แสดงว่าผมต้องทำอะไรดีเขาถึงมาประท้วง แล้วไปดูสิว่าคนประท้วงคนไทยรึเปล่า มาจากไหนยังไม่รู้เลย ประเทศไทยอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้... ต้องไปว่าคนอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ผมมีหลักฐานหมด แต่ผมไม่สนใจ จริงๆ มีคนรายงานแล้วว่ามาที่นี่ต้องเจอแบบนี้ แต่ผมไม่กลัว"
(ทรงพจน์ สุภาผล รายงานจากนครนิวยอร์ก)