'รมว.ต่างประเทศไทย' ร่วมประชุมนัดพิเศษที่กรุงวอชิงตัน ย้ำจุดยืนสันติวิธีแก้ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี

Your browser doesn’t support HTML5

รมว.ต่างประเทศไทยร่วมประชุมนัดพิเศษที่กรุงวอชิงตันย้ำจุดยืนสันติวิธีแก้ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี

Your browser doesn’t support HTML5

Interview Don US Asean Meeting

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน–สหรัฐฯสมัยพิเศษที่กรุงวอชิงตัน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ในโอกาสเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ (Special ASEAN-U.S. Foreign Ministers’ Meeting) ระหว่างวันที่ 4-5 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประชุมในกรณีพิเศษที่ไม่เคยมีการจัดขึ้นมาก่อน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้สหรัฐฯได้ให้ความสำคัญในสถานการณ์ในคาบสมทุรเกาหลีและทะเลจีนใต้ในการหารือร่วมกันกับกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งนี้

'มีการพูดกันเป็นสำคัญเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคโดยมี 2 เรื่องที่่ได้รับความสนใจ ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากกับเรื่องของคาบสมุทรเกาหลีโดยถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และมีความกังวลในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อพูดคุยกันก็ได้ความเข้าใจว่าต้องมีการพยายามหาทางออก และลดความตึงเครียด

..แต่การลดความตึงเครียดก็ต้องมีวิธีหลายด้านเช่นกัน ซึ่งทางเราเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดหากได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันและมีมาตรการต่างๆเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็คงต้องมาตรการอื่นๆที่ไม่ได้มีการใช้กำลังกัน ขอให้เบาใจได้ว่าการใช้กำลังไม่ใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย

ส่วนเรื่องทะเลจีนใต้ก็มีพัฒนาการเช่นกัน โดยเชื่อว่าอาเซียนมีความพยายามที่จะทำให้กรอบความร่วมมือ ที่เรียกว่า Code of Conduct (พื้นฐานสำหรับการเจรจาโดยถือเป็นระเบียบปฏิบัติทะเลจีนใต้)เกิดขึ้น และเชื่อว่าหากการหารือระหว่างจีนกับอาเซียนเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ปัญหาทะเลจีนใต้นั้นก็เชื่อว่าจะลดน้อยลงเช่นกัน' นายดอนให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย

U.S.Secretary of State Rex Tillerson and Thailand's Foreign Minister Don Pramudwinaiduring.

นอกจากนี้ในส่วนของไทย ยังได้มีการหารือแบบทวิภาคีกับนาย 'เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในฐานะมิตรประเทศของสหรัฐฯที่ยาวนานที่สุดในเอเชียกว่า 184 ปี รวมทั้งประเด็นด้านการค้าและเศรษฐกิจที่ไทยนั้นเป็น 1 ในรายชื่อ 16 ประเทศที่ผู้นำสหรัฐฯเคยออกมาระบุว่าได้เปรียบทุนการค้าจากสหรัฐฯ

'เราจะต้องมาช่วยกันดูว่า การได้ดุลย์ดังกล่าวนั้น มีเหตุมีผลและสามารถที่จะเป็นพื้นฐานการเพิ่มพูนการค้าต่อไปอย่างไร และจะต้องปรับให้เกิดความสมดุลกันขึ้นหรือไม่ เป็นต้น'

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวถึง การโทรศัพท์ต่อสายตรงจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยว่าถือเป็นการเริ่มต้นมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยเฉพาะการวิธีการทางการทูตที่มีการติดต่อกันในระดับผู้นำโดยตรง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

'ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่ามีระดับผู้นำ 2 ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาโทรมาถึงผู้นำของไทย คือหัวหน้ารัฐบาล และเป็นครั้งแรกที่มาด้วยไมตรีจิตที่ดีเต็มเปี่ยม มีการชื่นชมในความเป็นผู้นำของหัวหน้ารัฐบาลไทยที่ช่วยทำให้บ้านเมืองก้าวหน้าในช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา และรับทราบว่าปัญหาต่างๆ ก็ยังพอมีแต่ก็มีช่องทางแก้ไข ขณะเดียวกันก็มีการกล่าวเชิญให้มาเยือน ก็ถือว่าเป็นนิมิตใหม่ ศักราชใหม่'

ในส่วนการตอบรับคำเชิญของผู้นำสหรัฐฯ ที่เชิญนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการหารือถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยไทยได้พิจารณาตอบรับในเบื้องต้นในฐานะมิตรประเทศที่ได้รับคำเชิญด้วยไมตรีจิต