การหารือกันที่กรุงวอชิงตันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กับรัฐมนตรีต่างประเทศจากอาเซียนในสัปดาห์นี้กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
หัวข้อที่น่าจะมีการพูดคุยกันครอบคลุมเรื่องการค้า ความมั่นคง และปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ที่หลายประเทศเป็นคู่กรณีกับจีน
การพบกันครั้งนี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการช่วยปูทางไปสู่กำหนดการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งใจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของสมาคมเอเซียนเดือนพฤศจิกายนนี้
นักวิเคราะห์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า ก่อนหน้านี้ประเทศสมาชิกอาเซียนรู้สึกไม่สบายใจต่อนโยบาย “อเมริกามาก่อน” หรือ “America First” ของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมไปถึงการถอนตัวของอเมริกาจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP (Trans-Pacific Partnership)
การค้าระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมกว่าสองแสนล้านดอลลาร์ต่อปี ดังนั้นสัญญาณว่าสหรัฐฯ สนใจการปกป้องตลาดภายในประเทศมากขึ้นสร้างความกังวลต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สหประชาชาติเสนอรายงานในสัปดาห์นี้ที่เตือนถึงผลกระทบด้านลบจากนโยบายปกป้องตลาดภายในประเทศต่อภูมิภาคเอเชีย
ความไม่สบายใจดังกล่าวได้นำไปสู่ความพยายามของเจ้าหน้าที่ประเทศอาเซียนในการประสานงานให้เกิดการเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ
อาจารย์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการ Institute of Security and International Studies บอกกับวีโอเอว่า
"เป็นที่เห็นประจักษ์ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการฟื้นความเป็นพันธมิตรในระดับทวิภาคีและทำงานร่วมกับประเทศอย่างสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค"
ดร. ฐิตินันท์ กล่าวว่าแนวทางดังกล่าวของรัฐบาลอเมริกันเกิดขึ้นเพื่อยกระดับสถานะของอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสัญญาณการสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปในความสัมพันธ์กับจีน
ตามที่เป็นข่าวไปแล้วในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์โทรศัพท์เชิญผู้นำสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย ให้มาเยือนกรุงวอชิงตัน
ขณะเดียวกันดูเหมือนว่าการที่อาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักต่อกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ในแถลงการณ์จากการประชุมสุดยอดก่อนหน้านี้ เป็นไปตามสิ่งที่จีนต้องการ ตามความเห็นของดร. ฐิตินันท์
การเยือนกรุงวอชิงตันของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนขณะนี้ยังเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากอาเซียนแสดงความกังวลเรื่องความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
ประเด็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคที่มาพร้อมกับการคุยโทรศัพท์สายตรงระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับผู้นำของฟิลิปปินส์ ไทยและสิงคโปร์ ทำให้นักวิเคราะห์บางรายหวนนึกถึงสายสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับพันธมิตรเก่าเหล่านี้ในช่วงสงครามเย็น
ฟิล โรเบอร์สัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของหน่วยงาน Human Rights Watch สะท้อนทัศนะดังกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์หลายคนบอกด้วยว่าประเด็นความกังวลต่อเกาหลีเหนืออาจเป็นเครื่องประสานรอยร้าวในอาเซียนที่เคยเกิดจากการเลือกข้างสนับสนุนสองมหาอำนาจสหรัฐฯ และจีนในช่วงก่อนหน้านี้
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนได้พบหารือที่กรุงมะนิลา และมีแถลงการณ์ร่วมตำหนิเกาหลีเหนือที่พยายามยั่วยุให้เกิดความไม่สงบในภูมิภาค
(รายงานโดย Ron Corben / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)