ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์ความสัมพันธ์ "ยุคใหม่" ไทย - สหรัฐฯ เมื่อทรัมป์โทรศัพท์เชิญประยุทธ์เยือนทำเนียบขาว


FILE - Thailand's Prime Minister Prayuth Chan-ocha
FILE - Thailand's Prime Minister Prayuth Chan-ocha
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:22 0:00


นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่หยุดนิ่งในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา กำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” หลังการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กับ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กับ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และการมีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพื่อความมั่นคงของเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ ยังกล่าวเชิญพลเอกประยุทธ์ให้เดินทางเยือนทำเนียบขาวด้วย

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการพูดคุยระหว่างผู้นำไทยกับสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หลังจากที่หยุดนิ่งในช่วง 10 ปีผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 หลังจากคณะทหารทำรัฐประหาร และรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลไทยว่าปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

รศ. ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ดูเหมือนรัฐบาลไทยไม่รีรอที่จะตอบรับคำเชิญของสหรัฐฯ เรื่องการเยือนทำเนียบขาว

"พลเอกประยุทธ์ได้ตกลงตอบรับคำเชิญของ ปธน.ทรัมป์ ทันที และว่าท่าทีของทางผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลไทยรออยู่แล้ว"

ขณะเดียวกัน รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรองนายกฯ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า

"การพูดคุยระหว่างผู้นำสองประเทศครั้งนี้ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ 'ยุคใหม่' ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย – สหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ยุคใหม่ที่มีรากฐานจากความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ยาวนาน แต่เป็นการมุ่งมองไปที่ความร่วมมือที่ดีกว่าเดิมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต"

"และถือเป็นการก้าวผ่านยุคแห่งความสัมพันธ์ที่สูญหายไปในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไทยกับสหรัฐฯ แทบจะไม่มีความร่วมมือสำคัญๆ ในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคม"

ดร.ปณิธาน เชื่อว่า สหรัฐฯ มิได้ต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์เฉพาะกับไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนก็เชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยได้พยายามหาทางฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่นานหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง

ด้าน ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภาของไทย ชี้ว่า

"การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่ายินดี และดูเหมือนจุดยืนเดียวของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อน ที่ต้องการให้ไทยเร่งกลับสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยนั้น ได้หายไปพร้อมกับแนวทางใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์"

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดตามการเมืองหลายคน รวมทั้งคุณ Phil Robertson แห่งองค์กร Human Rights Watch ยังคงกังวลต่อนโยบายหรือแนวทางใหม่ของ ปธน.ทรัมป์ ที่ดูเหมือนจะลืมแก่นหรือหลักการเดิมของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประเด็นทางสังคมอื่นๆ เป็นอันดับต้นๆ

"มีหลักฐานมากขึ้นว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังโยนหลักการด้านสิทธิมนุษยชนทิ้ง ซึ่งขัดกับธรรมเนียมแต่เดิมด้านนโยบายต่างประเทศ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม ปฏิบัติต่อกันมาหลายยุคสมัย"

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยนั้น มีฉากหลังคือความพยายามคานอำนาจของจีนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือทางการทูตด้วย

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Ron Corben)

XS
SM
MD
LG