การศึกษาล่าสุดรายงานว่าคลื่นความร้อนที่มีความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่ออินเดียทั้งด้านสุขภาพประชาชนและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ โดยที่คนงานรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด จากอุณหภูมิร้อนจัดที่เกิดขึ้น
แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในตึกแถว เขตคุรุคราม ใกล้เมืองหลวงของอินเดีย มักใช้เวลาอยู่ด้านนอกแทนที่จะพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน
อาลอค ดาซ แรงงานอาศัยในเขตคุรุคราม กล่าวว่า การเปิดพัดลมไม่ช่วยคลายร้อนแต่อย่างใด แต่พวกเขาก็ไม่มีเงินพอจะใช้เครื่องปรับอากาศได้
ริจินา บีบี แรงงานอาศัยในเขตคุรุครามอีกราย เล่าว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำและไฟฟ้าที่ขัดข้อง ทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลง
ผู้คนนับล้านต่างต้องเผชิญชะตากรรมที่คล้ายกัน ในการศึกษาล่าสุดโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ประเทศอังกฤษ ชี้ว่าคลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อประเทศส่วนใหญ่
โรนิตา บาร์ดัน อาจารย์ภาคสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า “เราพบว่าประชากรอินเดีย เกือบ 90% ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ตรงไหน ก็ตกอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกระบุว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”
ในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของอินเดีย ทั้งรัฐพิหารและรัฐอุตตรประเทศ ทางการกำลังสืบสวนว่า การเสียชีวิตของประชาชนราว 100 คนที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมิถุนายน เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่สูงกว่า 42 องศาเซลเซียสหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คลื่นความร้อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีความถี่และรุนแรงมากขึ้น อันก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ
อันจาล ปรากาช ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันนโยบายสาธารณะภารที ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า หลักฐานชี้ให้เห็นถึงกลุ่มคนที่อยู่ฐานล่างของสังคม ที่มีอยู่ราว 400 ถึง 500 ล้านคน พวกเขารับมือความเครียดอันเกิดจากความร้อนได้น้อยกว่าผู้ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากกว่า ดังนั้นคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการปกป้องด้วยบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่า
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล คนที่ทำงานกลางแจ้งคือกลุ่มที่ต้องเผชิญปัญหานี้เลวร้ายที่สุด ทั้งคนงานก่อสร้าง คนขายของตามถนน และแรงงานตามไร่นาในชนบท ซึ่งอินเดียไม่มีกฎหมายจำกัดชั่วโมงทำงานในช่วงบ่าย
บาบะลู ซิงห์ คนงานก่อสร้าง บอกว่า ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนในเดือนเมษายน เขาต้องหยุดงานมากขึ้น โดยทำงานประมาณ 15 วันต่อเดือน ความร้อนขณะทำงานกลางแจ้งทำให้เขารู้สึกปวดหัว และต้องหยุดอยู่บ้านเพื่อทำการพักฟื้น
ผลการศึกษาคาดว่าคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจทำให้อินเดียสูญเสียผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ราว 2.8% ภายในปี 2050
โรนิตา บาร์ดัน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เสริมว่า เมื่ออากาศร้อนส่งผลต่อการทำงานของมนุษย์ นั่นคือการสูญเสียทางเศรษฐกิจไปมาก มันเป็นการบั่นทอนศักยภาพของแรงงาน
การศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยังได้เตือนว่าภาวะอากาศร้อนที่รุนแรงนี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาความยากจน เนื่องจากสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานรายได้ต่ำซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย
- ที่มา: วีโอเอ