ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซียร้องขอให้สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย เลี่ยงการก่อสงครามใหม่ ๆ ในช่วงที่ยังคงมีภาวะตึงเครียดหนักในหลายจุดของโลกอยู่
ในการกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) ที่กรุงจาการ์ตาในวันพฤหัสบดี ปธน.วิโดโด เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้สามารถคงไว้ซึ่งความสงบและความเจริญรุ่งเรืองที่ดำเนินมานานทศวรรษ
การประชุม EAS ในสัปดาห์นี้เป็นการรวมตัวของผู้นำและผู้แทนจากชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียน รวมทั้งหุ้นส่วนสำคัญอันได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์และเกาหลีใต้
ปธน.วิโดโดกล่าวเป็นภาษาอินโดนีเซียต่อผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีเนื้อความว่า “ทุกคนในห้องนี้มีความรับผิดชอบเดียวกันในการไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ ๆ ไม่สร้างสถานการณ์ตึงเครียดใหม่ ๆ ไม่ทำสงครามใหม่ ๆ ขึ้น” และว่า “ในขณะเดียวกัน เราก็มีความรับผิดชอบที่จะลดทอนความตึงเครียดที่ยกระดับสูง ที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ระหว่างรัฐทั้งหลายที่อยู่ในภาวะเย็นชาใส่กัน ที่จะสร้างพื้นที่ให้มีการเจรจาหารือ เพื่อสร้างสะพานเชื่อมทุกจุดที่มีความแตกต่างกันอยู่”
อย่างไรก็ดี ข้อความดังกล่าวไม่ได้ถูกนำส่งถึงผู้นำ 3 ประเทศมหาอำนาจอันได้แก่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยตรง เนื่องจากทั้งหมดตัดสินใจส่งตัวแทนของตน ซึ่งก็คือ รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง และรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ มาร่วมประชุมในปีนี้แทน
และในฐานะประธานหมุนเวียนอาเซียน ผู้นำอินโดนีเซียประกาศก่อนหน้านี้ว่า สมาคมที่มีสมาชิก 10 ประเทศนี้ “ตกลงที่จะไม่ยอมเป็นตัวแทนของอำนาจใด ๆ” และยังเน้นย้ำว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่ยอมมาเป็นด่านหน้าของสงครามเย็นครั้งใหม่ ซึ่งเป็นคำมั่นที่เขาให้ไว้เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากกัมพูชาในปีที่แล้ว
แอรอน คอนเนลี นักวิจัยจาก International Institute for Strategic Studies ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า อินโดนีเซียนั้น “มองว่า การแข่งขันในหมู่ประเทศมหาอำนาจ คือ ภัยคุกคามหลักต่อผลประโยชน์ของตนในภูมิภาค[อาเซียน]” และ “มองตัวการแข่งขันต่าง ๆ ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งที่เริ่มทำการแข่งขัน เป็นภัยคุกคาม”
ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนทั้งหลายต่างตอบรับคำกล่าวของปธน.วิโดโดทันที อย่างเช่น นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง แห่งสิงคโปร์ ที่กล่าวว่า “สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ” และยังขอให้กรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่ง “แสดงความเป็นผู้นำ” ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโลกด้วย
อีวี ฟิทริอานี ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Universitas Indonesia บอกกับ วีโอเอ ว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราต้องบอกบรรดามหาอำนาจทั้งหลายว่า ทุกอย่างที่พวกเขาดำเนินการทำในภูมิภาคนี้มันมากเกินไปแล้ว”
ท่าทีสหรัฐฯ ในที่ประชุม EAS
ในการประชุมปีนี้ ผู้นำชาติต่าง ๆ มุ่งเน้นหารือประเด็นที่อาเซียนไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาทำตามแผนสันติภาพที่เสนอไปได้ และกรณีท่าทีของจีนที่มีความอหังการมากขึ้นในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ รวมทั้งผลกระทบของสงครามในยูเครนต่อทั่วทั้งโลกและภัยคุกคามจากโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
SEE ALSO: รองปธน.แฮร์ริส หารือผู้นำอาเซียน - เก้าอี้เมียนมาว่างหลังไม่ได้รับเชิญข้อมูลจากทำเนียบขาวระบุว่า รองปธน.แฮร์ริส “ประณามอย่างรุนแรง” ต่อสงครามในยูเครนซึ่ง “ทำให้ภาวะขาดความไม่คงทางอาหารรุนแรงขึ้น” และยังประณามโครงการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ พร้อม ๆ กับแสดงความกังวลต่อกรณี “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง” ของจีนด้วย
นอกจากนั้น รองปธน.สหรัฐฯ ยังประณามรัฐบาลทหารเมียนมาต่อ “การดำเนินการรุนแรงโหดเหี้ยม” และร้องขอให้มีการกดดันเมียนมาหนักขึ้นเพื่อให้ทำตามแผนสันติภาพที่อาเซียนเสนอให้
เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา แฮร์ริสได้ประชุมนอกรอบกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น โดยได้เน้นย้ำจุดยืนของ “สหรัฐฯ ที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงที่ทำโดยลำพังต่อสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก” ด้วย
- ที่มา: วีโอเอ