ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาติสมาชิกอาเซียนห้ามเมียนมาเป็นประธานตามวาระปี 2026 


เก้าอี้ผู้นำของเมียนมาที่ถูกทิ้งให้ว่างเปล่า ในการประชุมผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซีย เมื่อ 5 กันยายน 2023 (ที่มา: รอยเตอร์)
เก้าอี้ผู้นำของเมียนมาที่ถูกทิ้งให้ว่างเปล่า ในการประชุมผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซีย เมื่อ 5 กันยายน 2023 (ที่มา: รอยเตอร์)

ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนมีมติ ยังไม่ให้เมียนมาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2026 ตามวาระ นักการทูตเผยสาเหตุจากปัญหาภายในประเทศ และหวั่นกระทบความสัมพันธ์สหรัฐฯ - สหภาพยุโรป

เมื่อ 5 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น เหล่าผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้หารือแบบปิดระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำที่จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย

หลังจากการหารือ มีแถลงการณ์ของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ระบุว่าฟิลิปปินส์ตกลงและมีความพร้อมที่จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนแทนเมียนมาในปี 2026

ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดเมียนมาถึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานตามวาระได้ แต่นักการทูตในอาเซียนสองคนได้ให้ข้อมูลกับเอพีว่า สาเหตุเกิดมาจากกระแสการต่อต้านจากประชาชนภายในเมียนมา และความหวาดกลัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) อาจย่ำแย่ลง เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวไม่ยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา

นักการทูตทั้งสองให้สัมภาษณ์โดยไม่ประสงค์ที่จะออกนาม เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ข้อมูลดังกล่าวในทางสาธารณะ เนื่องจากป็นเรื่องละเอียดอ่อน

การประชุมของเหล่าผู้นำอาเซียนเมื่อวันอังคาร มีการยกประเด็นความขัดแย้งในเมียนมาและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้มาเป็นวาระหารือหลัก และยังมีการพูดคุยในเรื่องภาวะการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกกันในอาเซียน โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโค วิโดโด ก็ได้เน้นย้ำให้เกิดความสามัคคีกัน

“เราทุกคนตระหนักถึงความใหญ่หลวงของความท้าทายบนโลกทุกวันนี้ ซึ่งกุญแจสำคัญในการจะเผชิญหน้าสิ่งนั้นก็คือความเป็นเอกภาพและความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” วิโดโดกล่าว

ผู้แทนจากรัฐบาลทหารเมียนมาถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซียนอีกครั้งในปีนี้ หลังจากไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมาที่อาเซียนสร้างขึ้นเมื่อปี 2021 แม้ว่าจะมีชาติสมาชิกบางชาติที่เห็นว่าควรนำเมียนมากลับมาร่วมวงประชุมได้แล้ว เพราะแนวทางการห้ามเข้าประชุมนั้นก็ไม่สามารถแก้วิกฤตในประเทศได้

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวว่าผู้นำอาเซียนได้ตัดสินใจจะยึดแนวทางตามแผนฉันทามติ 5 ข้อ แม้จะมีการประเมินว่าไม่ได้ทำให้การคลี่คลายวิกฤตในเมียนมามีความคืบหน้าแต่อย่างใด

มาร์ซูดียังกล่าวด้วยว่า ได้มีการกำหนดให้สามชาติที่เป็นประธานอาเซียนวาระที่แล้ว วาระปัจจุบัน และวาระถัดไป เป็นผู้ดูแลในเรื่องความไม่สงบในเมียนมา และเหล่าผู้นำในเมียนมาจะยังคงถูกห้ามเข้าประชุมระดับสูงต่าง ๆ ของอาเซียนต่อไป

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ระบุว่า ความขัดแย้งในเมียนมาที่ดำเนินไปหลังรัฐประหารเมื่อปี 2021 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วราว 4,000 ราย และมีผู้ถูกรัฐบาลทหารจับกุมไปแล้ว 24,410 ราย

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG