อินเดียเริ่มสั่งแบน ‘พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว’ ทั่วประเทศ

India Plastic Ban

ประเทศที่มีประชากรระดับพันล้านอย่าง อินเดีย เริ่มยกระดับแผนงานรับมือกับขยะพลาสติกที่ประเมินกันว่า มีปริมาณหลายล้านตันต่อปี ด้วยการออกคำสั่งห้ามใช้วัสดุดังกล่าวในบางรูปแบบแล้ว แต่หนทางแห่งความสำเร็จนั้นยังไม่แน่นอน เพราะผู้เกี่ยวข้องยังไม่ค่อยเข้าใจและรับรู้ถึงทางเลือกมากนัก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ อินเดียได้สั่งห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือแบบใช้แล้วทิ้งบางชนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะเลิกใช้วัสดุดังกล่าวในประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไปจนไม่มีการใช้งานอีกเลย

สำหรับขั้นตอนแรกของแผนการนี้ รัฐบาลกลางได้ระบุตัวผลิตภัณฑ์พลาสติก 19 รายการที่ไม่มีประโยชน์มากนัก และมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นขยะ ให้เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต นำเข้า เก็บรักษา แจกจ่าย หรือขาย เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่รัฐบาลอินเดียระบุไว้นั้นมีอาทิ ถ้วย หลอด และแท่งไอศครีมที่ทำจากพลาสติก รวมทั้ง ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งบางชนิด ซึ่งในกรณีนี้รัฐบาลทดแทนด้วยถุงพลาสติกที่หนากว่าและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ส่วนผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ อีกนับพันรายการ เช่น ขวดน้ำหรือถุงสำหรับอาหาร เช่น มันฝรั่งทอด ยังได้รับการยกเว้นอยู่ แต่รัฐบาลกลางได้ตั้งเป้าหมายในการกำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่รับผิดชอบในการรีไซเคิลหรือกำจัดทิ้งหลังการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทผู้ผลิตพลาสติกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐบาลเพื่อชะลอคำสั่งแบน โดยพวกเขากล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อและการที่ผู้คนอาจจะต้องตกงานเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ภูเพนเดอร์ ยาดาฟ (Bhupender Yadav) บอกกับสื่อในระหว่างเข้าร่วมการประชุมที่กรุงนิวเดลี ว่า คำสั่งห้ามนี้มีการประกาศใช้มาได้หนึ่งปีแล้ว

India Plastic Ban

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียคิดจะสั่งห้ามการใช้วัสดุพลาสติก โดยการแบนครั้งก่อน ๆ นั้นเกิดขึ้นที่บางพื้นที่ของประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จบ้างในระดับที่ต่างกันไป

ศัตยารุภา เชคาร์ (Satyarupa Shekhar) ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำหรับองค์กร Break Free from Plastic กล่าวว่า การออกคำสั่งห้ามทั่วประเทศนี้ไม่ใช่สำหรับการใช้งานพลาสติกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการผลิตและการนำเข้าอีกด้วย

โดยมากแล้ว พลาสติกทั่วโลกไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิลเท่าใด และวัสดุเหล่านี้กลับมาสร้างมลพิษให้กับมหาสมุทรของโลก ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และส่งผลเสียต่อน้ำที่ใช้ดื่ม-กิน ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ อันเกิดจากพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ อีกด้วย

A scientist looks at sea sample taken from the Mediterraneean Sea as part of a scientific study about microplastics damaging marine ecosystems, at the Villefranche Oceanographic Laboratory (LOV), in Villefranche-Sur-Mer on the French Riviera, France, Octo

ในส่วนของอินเดียเอง ระบบการจัดการขยะของประเทศนั้นไม่สามารถรับมือกับปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นตามเมืองและหมู่บ้านที่มีการขยายตัวอยู่ได้เลย ซึ่งก็หมายความว่า ขยะเหล่านั้นไม่ได้ถูกรีไซเคิลและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด

ข้อมูลจาก World in Data ระบุว่า มีขยะพลาสติกเกือบ 13 ล้านเมตริกตันที่ถูกทิ้งหรือไม่ได้ถูกรีไซเคิลโดยประเทศที่มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคนนี้ ในปีค.ศ. 2019

FILE- In this June 4, 2018, photo, a man collects plastic and other recyclable material from the shores of the Arabian Sea, littered with plastic bags and other garbage, in Mumbai, India. (AP Photo/Rafiq Maqbool, File)

รวี อักร์วาล (Ravi Agarwal) ผู้อำนวยการ Toxic Link ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนการจัดการขยะในกรุงนิวเดลีกล่าวว่า คำสั่งแบนของรัฐบาลกลางนั้น ถือว่า เป็น "จุดเริ่มต้นที่ดี" แต่ความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับว่า จะสามารถดำเนินการได้ดีแค่ไหน ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายที่แท้จริงจะอยู่ในมือของแต่ละรัฐและแต่ละเมือง

India Plastic Ban

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียเปิดเผยว่า คำสั่งห้ามล่าสุดนี้มีผลกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนด้วยวัสดุอื่น ๆ เช่น ช้อนไม้ไผ่ ถาดที่ทำมาจากต้นกล้วยกล้าย (plantain) และแท่งไม้เสียบไอศครีม แต่ในช่วงเวลาหลายวันก่อนที่จะมีการสั่งห้าม บรรดาพ่อค้าแม่ขายอาหารจำนวนมากกล่าวว่า พวกยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ดี

โมติ ราห์มัน (Moti Rahman) ซึ่งมีอาชีพขายผักในกรุงนิวเดลีกล่าวว่า ตัวเขาเองก็เห็นด้วยกับคำสั่งแบนนี้ แต่เสริมว่า หากถุงพลาสติกถูกห้ามใช้โดยไม่มีสิ่งทดแทนที่คุ้มทุน ธุรกิจของเขาก็จะได้รับผลกระทบ โดยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ในที่สุดแล้ว คนเราใช้พลาสติกกับทุกอย่างรอบตัวเราอยู่ดี”

  • ที่มา: เอพี