ฮังการีรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนอียู ท่ามกลางความกังวลจากหลายฝ่าย

  • AFP

แฟ้มภาพ - นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี เดินทางเข้าร่วมการประชุมที่ที่ทำการใหญ่ของอียู ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อ 25 มี.ค. 2565

ฮังการีรับไม้ต่อเป็นประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปในวันจันทร์ พร้อมให้สัญญาว่า จะทำหน้านี้ “คนกลางที่ซื่อสัตย์” ท่ามกลางกระแสความกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลบูดาเปสต์ว่ามีความเป็นมิตรกับรัสเซียและเป็นเผด็จการ

นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลฮังการีมาตั้งแต่ปี 2010 ด้วยเป้าหมายการเปลี่ยนถ่ายประเทศให้เป็นแบบ “ประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เสรีนิยม” มักมีปัญหาขัดแย้งกับกรุงบรัสเซลส์ในประเด็นหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยธรรมอยู่เป็นประจำ

ออร์บานยังเป็นผู้นำประเทศอียูรายเดียวที่คงรักษาสายสัมพันธ์กับรัสเซียไว้ หลังมอสโกส่งกองทัพรุกรานยูเครน โดยปฏิเสธที่จะส่งอาวุธให้กรุงเคียฟและวิพากษ์วิจารณ์มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียเพราะเหตุสงครามนี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อปีที่แล้ว รัฐสภายุโรปมีมติที่ไม่มีผลบังคับใช้กับสมาชิกและมีเนื้อหาเน้นย้ำ “ภาวะถอยกลับ” ของคุณค่าทางประชาธิปไตยของฮังการี และตั้งคำถาม “ความน่าเชื่อถือ” ของบูดาเปสต์ในฐานะประธานหมุนเวียนอียูเป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วย

แต่ฮังการีก็ยังยืนยันว่า ตนมีความพร้อมที่จะรับ “หน้าที่ความรับผิดขอบ” ในการดูแลกลุ่มที่มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศนี้

ยานอส โบกา รัฐมนตรีกิจการอียูของฮังการี กล่าวเมื่อกลางเดือนมิถุนายนว่า “เราจะเป็นคนกลางที่ซื่อสัตย์ ทำงานด้วยความจงรักภักดีต่อประเทศและสถาบันที่เป็นสมาชิกทั้งหมด” และว่า “ขณะเดียวกัน เราเชื่อว่า ฮังการีมีแนวทางที่แข็งแกร่งที่จะเดินหน้าผลักดันนโยบายอียูที่เข้มแข็ง งานของเราจะสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของยุโรปด้วย”

ขณะเดียวกัน ฮังการียังชูสโลแกนการบริหารอียู ซึ่งก็คือ “Make Europe Great Again” ซึ่งสะท้อนคำขวัญของ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็น “เพื่อนที่แสนดี” ของนายกฯ ออร์บาน และสโลแกนนี้ก็ทำให้หลายคนในบรัสเซลส์รู้สึกไม่ค่อยชอบใจแล้ว

และขณะที่ ออร์บาน ซึ่งเป็นผู้นำชาตินิยม ประกาศว่าจะดำเนินแผนงาน “ยึดครองบรัสเซลส์” ในระหว่างการเลือกตั้งยุโรปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน โดยหวังได้เสียงสนับสนุนจากนักการเมืองฝ่ายขวา จนถึงเวลานี้ พรรคฟิเดสซ์ ของออร์บานกลับยังคงถูกโดดเดี่ยวอยู่และไม่สามารถจับกลุ่มกับฝ่ายใดในรัฐสภายุโรปได้เลย

และเมื่อวันอาทิตย์ ออร์บานเพิ่งประกาศความต้องการจัดตั้งกลุ่มของตนเองที่ร่วมกับพรรคเสรีภาพ ซึ่งเป็นฝ่ายขวาเช่นกัน จากออสเตรีย และพรรค ANO ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายกลางของอดีตนายกรัฐมนตรีเช็ก แอนเดรจ์ บาบิส

  • ที่มา: เอเอฟพี