ฮังการีประกาศย้ำในวันจันทร์ว่า ตนจะไม่ยอมก้มหัวรับแรงกดดันจากประเทศสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู)ให้ยอมเปิดทางให้ยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกรายใหม่ และพร้อมเผชิญหน้ากับประเทศผู้สนับสนุนอื่น ๆ ในการประชุมสุดยอดสัปดาห์นี้ ตามรายงานของรอยเตอร์
ประเทศสมาชิกอียูมีกำหนดจัดประชุมสุดยอดในวันที่ 14 และ 15 ธันวาคมนี้ และวิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งมักออกมาโอ้อวดเรื่องความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างตนเองกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ขู่ไว้แล้วว่า จะออกเสียงวีโต้ทั้งการอนุมัติความช่วยเหลือและการรับสมาชิกของกลุ่ม
ถึงกระนั้น สมาชิกอียูอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเยอรมนีเปิดเผยว่า ได้มีการเริ่มตั้งต้นเจรจาใหม่กับกรุงเคียฟในกรณีการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว แม้รัฐบาลกรุงบูดาเปสต์จะปฏิเสธไม่ร่วมกระบวนการนี้ก็ตาม และปีเตอร์ ซีอาร์โต รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี ก็ระบุในโพสต์ทางเฟสบุ๊กว่า “เราจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันใด ๆ ... ไม่ว่า จะมาจากที่ไหน จากใคร และไม่ว่าจะมีการแบล็กเมล์แบบใดก็ตาม”
กาบรีเอลีอุส แลนดส์เบอร์กิส รัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนีย ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือ “การงัดข้อกันของอุดมการณ์ ระหว่างผู้ที่ต้องการให้ยุโรปมีความเข้มแข็ง และผู้ที่ไม่ต้องการมีอียูเลย”
ขณะเดียวกัน ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนกล่าวว่า หากการประชุมนี้ไม่มีการหารือประเด็นการยื่นใบสมัครสมาชิกของรัฐบาลกรุงเคียฟ และการนำส่งความช่วยเหลือทางทหารและทางการเงินเพื่อใช้ในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย จะถือเป็นเรื่อง “น่าเศร้าใจอย่างมาก” ทั้งยูเครนและสหภาพยุโรป
การที่อียูจะอนุมัติมติใด ๆ ซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจรอบที่ 12 ต่อรัสเซียนับตั้งแต่มอสโกส่งกองทัพรุกรานยูเครน จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิก 27 ประเทศก่อน
ในเวลานี้ การได้รับความช่วยเหลือทางการเงินชุดใหม่จากยุโรปนั้นเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากสำหรับยูเครน ขณะที่ มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความช่วยเหลือในอนาคตจากสหรัฐฯ จนทำให้ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ต้องเดินทางมาหารือเรื่องนี้ที่กรุงวอชิงตันแล้ว
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น