จับตาดีเบตแรก 'แฮร์ริส-ทรัมป์' วัดกึ๋นสองผู้ท้าชิงปธน.

  • VOA

รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส และอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

สองผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส และอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นเวทีโต้อภิปราย หรือ ดีเบต ครั้งแรกในคืนวันอังคารที่ 10 กันยายนนี้ ที่นครฟิลาเดลเฟีย โดยมีหลายประเด็นที่น่าจับตามอง

ผู้สมัครทั้งสองคนยังไม่เคยพบพูดคุยกันมาก่อน แต่ในวันอังคารนี้ ทั้งคู่จะต้องยืนอยู่บนเวทีเดียวกันที่ศูนย์ประชุม National Constitution Center ในฟิลาเดลเฟีย เพื่อโต้คารมกันเป็นเวลา 90 นาที พร้อมไปกับการตอบคำถามผู้ดำเนินรายการสองคนจากสถานีข่าว เอบีซีนิวส์ คือ เดวิด เมียร์ และลินซีย์ เดวิส

คาดว่าจะมีคนอเมริกันเฝ้าหน้าจอชมการดีเบตครั้งนี้หลายสิบล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นการดีเบตเพียงครั้งเดียวของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงสองเดือนก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย. รวมทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าในบางรัฐ

Your browser doesn’t support HTML5

Presidential debates that sparked change

คะแนนนิยมใครดีกว่า?

ผลการสำรวจความนิยมทั่วประเทศล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ทั้งคู่มีคะแนนที่สูสีกันมาก ดังนั้นการดีเบตครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของการดึงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

ผลสำรวจของ New York Times-Siena College ชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์มีคะแนนนำแฮร์ริส 48 - 47% ทั่วประเทศ ในขณะที่แฮร์ริสนำหน้าเล็กน้อยในผลโพลล์เฉลี่ยของ 3 รัฐสำคัญที่เป็นรัฐสมรภูมิ หรือ battleground state ได้แก่ รัฐวิสคอนซิน มิชิแกน และเพนซิลเวเนีย ส่วนในรัฐสมรภูมิอีก 4 รัฐ คือ แอริโซนา จอร์เจีย เนวาดา และนอร์ธแคโรไลนา ทั้งคู่มีคะแนนเท่ากัน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า รัฐสมรภูมิทั้ง 7 รัฐดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้งว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกา

โพลล์ของ New York Times-Siena College ชี้ด้วยว่า การดีเบตในคืนวันอังคารนี้มีความสำคัญยิ่งยวดต่อแฮร์ริสในการแนะนำตัวเองต่อประชาชนอเมริกัน เนื่องจาก 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาต้องการรู้จักรองปธน.คนปัจจุบันให้มากกว่านี้ เทียบกับ 9% ที่บอกว่าต้องการรู้จักทรัมป์มากขึ้น

เตรียมตัวก่อนขึ้นเวทีดีเบต

รองปธน.แฮร์ริส เตรียมตัวสำหรับการดีเบตครั้งนี้ด้วยการซ้อมโต้อภิปรายหลายครั้งกับคนที่มีลักษณะคล้ายทรัมป์ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่จัดให้เหมือนยืนอยู่บนเวทีจริงและมีผู้ดำเนินรายการคอยถามคำถามต่าง ๆ

ขณะที่อดีตปธน.ทรัมป์ เน้นรับฟังสรุปนโยบายสำคัญ ๆ จากบรรดาที่ปรึกษา และซ้อมดีเบตกับคนที่มีลักษณะคล้ายแฮร์ริสเช่นกัน

Your browser doesn’t support HTML5

วิเคราะห์: มุมมอง 'ทรัมป์ - แฮร์ริส' กับอนาคตที่แตกต่างของยูเครน

แอรอน คอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดีเบตจากมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน (University of Michigan) กล่าวกับวีโอเอว่า "คืนวันอังคารนี้คือหนึ่งในการดีเบตที่มีผู้เฝ้ารอชมมากที่สุดและจะมีผลต่อเนื่องมากที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา ทรัมป์คือผู้ที่ผ่านประสบการณ์โต้อภิปรายในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มีประวัติการถูกวิจารณ์จากการกล่าวถึงคู่แข่งบนเวทีดีเบตมาไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากประเด็นด้านนโยบายที่สำคัญต่าง ๆ ได้"

สำหรับรองปธน.แฮร์ริส ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้บอกว่า เธอเพิ่งเข้าสู่การแข่งขันเมื่อเดือนกรกฎาคม และ "เธอต้องแสดงให้เห็นว่าเธอสามารถชี้ถึงความผิดพลาดของทรัมป์ในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกและการกระทำของเขาในช่วงที่ผ่านมาได้" และว่า "ทรัมป์คือผู้เชี่ยวชาญการโต้กลับ และเขาอาจใช้กลยุทธ์เผาทุกอย่างให้สิ้น หากเขารู้สึกว่าถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมบนเวทีดีเบต"

แอรอน คอลล์ กล่าวเสริมด้วยว่า "ผู้สมัครทั้งสองคนควรเน้นย้ำถึงประวัติความสำเร็จของตนเอง และทักษะที่โดดเด่นที่เหมาะสมต่อการนำพาประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า"

กติกาการดีเบต

กติกาที่นำมาใช้ในการดีเบตครั้งนี้จะเหมือนกับการดีเบตครั้งที่แล้วระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับทรัมป์ เมื่อเดือนมิถุนายน ที่นครแอตแลนตา ก่อนที่ไบเดนจะประกาศถอนตัว

ไมโครโฟนของผู้สมัครจะถูกปิดไว้ในขณะที่อีกคนกำลังพูดอยู่ โดยทั้งคู่จะมีเวลาคนละสองนาทีในการตอบคำถามแต่ละข้อของผู้ดำเนินรายการ และหนึ่งนาทีสำหรับการตอบโต้อีกฝ่ายหนึ่ง

ประเด็นสำคัญที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาโต้คารมกัน คือ สิทธิในการทำแท้ง, ผู้อพยพบริเวณพรมแดนสหรัฐฯ ติดเม็กซิโก, อัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศ รวมทั้งบุคลิกภาพส่วนตัวของผู้สมัคร เป็นต้น

  • ที่มา: วีโอเอ