องค์การอนามัยโลกชี้ "สิงห์อมควัน" มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศยากจน

  • Jessica Berman
สนธิสัญญาควบคุมยาสูบของ WHO มุ่งลดการสูบบุหรี่และการเสียชีวิตจากโรคที่มากับบุหรี่

Your browser doesn’t support HTML5

Global Tobacco Control

มีผู้ใหญ่ทั่วโลกราว 740 ล้านคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน และตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา จำนวนผู้ชายที่สูบบุหรี่เป็นประจำได้เพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซ็นต์และ 7 เปอร์เซ็นต์ในผู้หญิง

ในปี ค.ศ. 2005 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้สนธิสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระดับนานาชาติ ที่เรียกร้องให้นานาประเทศออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดการสูบบุหรี่

คุณโลรอง ฮูแบร์ (Laurent Huber) ผู้อำนวยการบริหารแห่ง Action on Smoking and health กล่าวว่ามีประเทศต่างๆ 180 ชาติลงนามในสนธิสัญญานี้ และมีหลักฐานที่ชี้ว่า หลังจากมีการบังคับใช้กฏหมายต่อต้านบุหรี่กันอย่างเข้มเเข็ง การสูบบุหรี่จะเริ่มลดลง

หน่วยงานพัฒนาเอกชนไม่หวังผลกำไรที่คุณโลรอง ฮูแบร์ เป็นหัวหน้า มีบทบาทในการร่างสนธิสัญญานี้ โดยฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลดีจากมาตรการควบคุมยาสูบ ซึ่งคุณฮูแบร์ ชี้ว่าฝรั่งเศสปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสูงมาก

เขากล่าวว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ช่วยลดการสูบบุหรี่ลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่เขาชี้ว่าการสูบบุหรี่ในฝรั่งเศสกลับเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี ค.ศ. 2014 - 2015 เนื่องจากทางการล้มเหลวในการปรับภาษีสรรพสามิตขึ้นไปให้เหมาะสมกับภาวะเงินเฟ้อในขณะนั้น

คุณฮูเเบร์กล่าวว่า สนธิสัญญานี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการสั่งห้ามการสูบบุหรี่ หรือทำให้บุหรี่เป็นของผิดกฏหมายอย่างที่หลายคนสงสัย แต่เป็นเรื่องของการควบคุมบุหรี่เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ และลดการสูบบุหรี่ให้อยู่ในระดับต่ำ

คุณฮูแบร์กล่าวว่ายาสูบทำให้คนเสียชีวิต 6 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะมีคนเสียชีวิต 1 ล้านคนภายในปลายคริสต์ศตวรรษนี้

สนธิสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกนี้ ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะลดการสูบบุหรี่ลงมา 30 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขในปี ค.ศ. 2010 ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2025

มาตรการต่อต้านบุหรี่ต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จเเล้ว รวมทั้งการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและการพิมพ์ภาพกราฟฟิกบนซองบุหรี่

คุณฮูแบร์กล่าวว่า ภาพกราฟฟิกบนซองบุหรี่ เเสดงถึงผลเสียต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่เป็นการสื่อสารข้อความที่ได้ผลมากในประเทศยากจน เขากล่าวว่าภาพกราฟฟิกบนซองบุหรี่ช่วยให้คนเข้าใจผลเสียต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ได้ดี และได้ผลอย่างมากในเขตที่มีประชากรที่ไม่รู้หนังสือจำนวนหนึ่ง

อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานี้ บังคับให้มีการตีพิมพ์ภาพกราฟฟิกนี้บนซองบุหรี่ แต่ยังมีหลายประเทศ อาทิ อินเดีย ที่ยังล้มเหลวในการนำมาตรการนี้ไปปฏิบัติ เนื่องจากมีเเรงต้านซึ่งได้รับอิทธิผลจากบริษัทยาสูบรายใหญ่ๆ



(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)