ในหลายๆ ประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินเดียและแอฟริกาใต้ คุณอาจจะพบเห็นเด็กๆ สูบบุหรี่ ยกตัวอย่างภาพวิดีโอทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเด็กอายุ 2 ขวบคนหนึ่งในอินโดนีเซียจุดบุหรี่สูบ ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก
ประมาณว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของเด็กชายในอินโดนีเซีย อายุตั้งเเต่ 13-15 ปี สูบบุหรี่เป็นประจำ
มีป้ายบิลบอร์ดโฆษณาบุหรี่หลายป้ายติดตั้งไม่ไกลนักจากโรงเรียน เเละเด็กๆ สามารถซื้อบุหรี่ได้ในราคาถูกจากเครื่องขายบุหรี่ที่ดำเนินการโดยบริษัทยาสูบต่างๆ
คุณ Matt Myers ประธานกลุ่มรณรงค์เพื่อเด็กปลอดบุหรี่ (Campaign for Tobacco-Free Kids) กล่าวว่า คนที่เจ็บป่วยหนักจากโรคมะเร็งปอด หรือมะเร็งในช่องปาก ส่วนมากเป็นคนที่สูบบุหรี่มาตั้งเเต่อายุยังน้อย
ทางกลุ่มตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวันลง จากจำนวนโดยประมาณ 740 ล้านคนทั่วโลก ด้วยการร่วมมืออย่างเเข็งขันกับประเทศต่างๆ เพื่อจัดตั้งโครงการและนโยบายต่อต้านยาสูบ เขากล่าวว่า หากทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ และป้องกันไม่ให้คนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งเเต่ต้น ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะยาว
การเสียชีวิตจากโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็งปอดและโรคหัวใจ ถือเป็นปัญหาฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขทั่วโลก และการสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคร้ายเหล่านี้
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้ประกาศบังคับใช้สนธิสัญญาควบคุมบุหรี่ทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งการสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบ
องค์การอนามัยโลกใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยโรคไม่ติดต่อ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการสูบบุหรี่ลงภายในปีค.ศ. 2025 โดยให้ต่ำกว่าในปี ค.ศ. 2010 ราว 30 เปอร์เซ็นต์
การทำงานนี้มีความคืบหน้า และจำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้สูบบุหรี่ลดลงทั่วโลก แต่การเติบโตของจำนวนประชากรโลกทำให้มีคนสูบบุหรี่มากกว่าที่เคยมีมา
คุณ Myers กล่าวว่า บริษัทยาสูบต่างหมายตาที่จะเพิ่มเป้าการขายในกลุ่มเด็กและคนหนุ่มสาวในประเทศกำลังพัฒนา แต่การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ประสบความสำเร็จมากขึ้นในประเทศเหล่านี้ เขากล่าวว่า เมื่อสองปีที่แล้ว เป็นครั้งเเรกในประวัติศาสตร์ที่ยอดขายบุหรี่ทั่วโลกลดลง และนั่นเป็นผลลัพท์โดยตรงจากมาตรการต่อต้านบุหรี่ในประเทศเหล่านี้ แม้ว่าหนทางยังอีกยาวไกล
ประเทศต่างๆ ที่เริ่มเห็นผลดีจากการต่อต้านบุหรี่ ได้บังคับให้บรรดาบริษัทยาสูบแสดงภาพถ่ายของโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ลงบนซองบุหรี่ ห้ามการโฆษณาบุหรี่ ปรับภาษีสรรพสามิตให้สูงขึ้น ทำให้ราคาบุหรี่เเพงขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน )