ทีมนักวิจัยในอังกฤษตั้งข้อสังเกตุว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคประสาทหลอนมักเป็นผู้สูบบุหรี่
คุณ Sameer Jauhar นักวิจัยด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย King’s College ในกรุงลอนดอนกล่าวว่าตนตั้งข้อสงสัยว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคประสาทหลอน เพราะตนพบว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทประเภทนี้มักจะเป็นคนที่สูบบุหรี่ และคนเหล่านี้มักจะใช้การสูบบุหรี่บำบัดโรคจิตเภทด้วยตนเอง
คุณ Jauhar แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านทาง podcast ที่ปรากฏในวารสาร the Lancet Psychiatry ฉบับตีพิมพ์ทางอิเลคทรอนิคส์เมื่อเร็วๆ นี้ บทความดังกล่าวชี้แจงผลการศึกษาของเขาที่สงสัยว่าการสูบบุหรี่เกี่ยวข้องกับโรคประสาทหลอน
ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย King’s College สรุปผลการศึกษานี้หลังจากวิเคราะห์การศึกษา 61 ชิ้นจากทั่วโลก ที่พบว่าผู้ที่มารับการตรวจรักษาโรคประสาทหลอนครั้งแรกเป็นผู้สูบบุหรี่ โดยมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยโรคนี้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึงสามเท่าตัว
นายแพทย์ James MacCabe เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยอาวุโสและแพทย์ด้านการวิจัยทางจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย King’s College เขากล่าวว่าตนไม่แปลกใจที่การศึกษาพบว่าเกินครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยประสาทหลอนเป็นผู้สูบบุหรี่ แต่เขาคิดว่าคงไม่ง่ายนักที่จะอธิบายให้คนทั่วไปคล้อยตามผลการศึกษาว่า คนที่เป็นโรคจิตเภทใช้บุหรี่เป็นตัวช่วยทุเลาอาการป่วย
นายแพทย์ MacCabe กล่าวว่าหากเหตุผลของการสูบบุหรี่คือเพื่อบำบัดอาการป่วยทางจิตเภทด้วยตัวเอง ก็แสดงว่าตอนที่เริ่มป่วย ผู้ป่วยไม่สูบบุหรี่ แต่หันไปสูบบุหรี่ตอนเริ่มแสดงอาการป่วย
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคจิตหลอนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุยังน้อยกว่าผู้สูบบุหรี่โดยทั่วไป โดยเริ่มสูบบุหรี่ก่อนหน้าที่จะเริ่มป่วยด้วยโรคนี้
แม้ไม่มีหลักฐานยืนยัน ทีมนักวิจัยเชื่อว่าสารนิโคตินในบุหรี่เป็นตัวกระตุ้นหารหลั่งสาร dopamine ในสมอง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยควบคุมการทำงานของสมองในส่วนที่ตอบสนองต่อรางวัลและความพึงพอใจ ผู้เชี่ยวชาญพบว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทมีปริมาณสาร dopamine ในสมองเพิ่มขึ้นกว่าปกติและการใช้ยาบำบัดโรคมุ่งลดปริมาณสาร dopamine ในสมองของผู้ป่วยลง
หากมีการศึกษาใดๆ ก็ตามที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าการสูบบุหรี่เกี่ยวข้องกับโรคประสาทหลอน นายแพทย์ MacCabe ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางจิตวิทยาเห็นว่าจำเป็นต้องเตือนให้คนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภทตามประวัติของครอบครัว หรือเป็นผู้เสพติดยา ว่าควรเลิกสูบบุหรี่เสีย ผู้เชี่ยวชาญคนนี้กล่าวว่ามีเหตุผลมากมายที่สนับสนุนให้คนลดและเลิกการสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพและจากการศึกษานี้ เขาเชื่อว่าการลดและเลิกบุหรี่มีผลดีแน่นอนต่อสุขภาพจิตของคนเรา
ทีมผู้ร่างรายงานผลการวิจัยเร่งเร้าให้มีการศึกษาทางลึกเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์ว่าการสูบบุหรี่เป็นบางครั้งบางคราวและสารนิโคตินมีผลให้คนเกิดโรคจิตเภทได้อย่างไร
(Jessica Berman รายงาน / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)