ผลสำรวจเผยทั่วโลกมีทัศนคติแง่ลบต่อจีนสูงสุดเป็นสถิติใหม่

  • VOA

ผลการสำรวจความเห็นประชาชนใน 24 ประเทศเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อจีน พบว่า 67% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในประเทศเหล่านั้นมีทัศนคติแง่ลบต่อจีน และมีไม่ถึง 28% ที่มองจีนในแง่บวก โดยในประเทศรายได้สูงบางประเทศ ความคิดด้านลบต่อจีนอยู่ในระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่

ผลสำรวจที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ซึ่งเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี รวบรวมความเห็นประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่า 27,000 คนใน 24 ประเทศทั่วโลก ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 22 พฤษภาคม ปีนี้ โดยเน้นสอบถามความเห็นเกี่ยวกับจีนและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

นักวิเคราะห์กล่าวกับวีโอเอว่า ทัศนคติด้านลบต่อจีนในหลายประเทศเกิดจากการรับรู้ว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและระบบการเมืองการปกครองของประเทศตน ตลอดจนความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนในจีนหลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่ง

กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเตอร์กีสถานเดินขบวนหน้าทำเนียบขาวเพื่อต่อต้านรัฐบาลจีนที่กดขี่ชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2022 (แฟ้มภาพ-เอพี)

ซูซา แอนนา เฟเรนซีย์ ผช.ศ.ที่มหาวิทยาลัยเนชันแนล ตงหัว (National Dong Hwa University) ในไต้หวัน กล่าวว่า "การถดถอยของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและฮ่องกง ทำให้ชาติยุโรปต้องหารือกันว่าจะปรับสมดุลความสัมพันธ์กับจีนอย่างไร รวมถึงการเปิดรับจีนน้อยลง"

คริสทีน หวง นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยพิว กล่าวกับวีโอเอว่า "เราเห็นระดับการเพิ่มขึ้นของทัศนคติด้านลบที่มีต่อจีนในประเทศรายได้สูงหลายประเทศหลังจากเกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส"

ผู้ประท้วงชุมนุมใกล้สถานกงสุลจีนในนิวยอร์ก เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านมาตรการจำกัดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2022

บทบาท "ผู้สร้างสันติภาพ"

เมื่อถามถึงบทบาทของจีนบนเวทีโลก 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า จีนมิได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลก แม้ว่าที่ผ่านมา จีนพยายามวางบทบาทเป็น "ผู้สร้างสันติภาพ" ทั่วโลก เช่น การไกล่เกลี่ยข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งจัดทำแผนสันติภาพ 12 ขั้นสำหรับสงครามยูเครนเมื่อต้นปีนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จีนยังคงล้มเหลวในการจัดการปัญหาขัดแย้งด้านพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ซึ่งย้อนแย้งกับการสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็น "ผู้สร้างสันติภาพ"

ซานา ฮาชมี นักวิชาการที่ Taiwan-Asia Exchange Foundation หรือ TAEF ในกรุงไทเป กล่าวว่า "มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จีนวางเป้าหมายไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง"

ขณะเดียวกัน 76% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า จีนมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศอื่นประกอบการจัดทำนโยบายต่างประเทศของจีน และมากกว่า 57% คิดว่าจีนแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างในอิตาลีที่บอกว่าจีนแทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่นถึง 82%

รถไฟความเร็วสูงขบวนใหม่ของไนจีเรีย สร้างโดยบริษัท China Civil Engineering Construction Corporation (CCECC) ของจีน (แฟ้มภาพ-เอเอฟพี)

ทัศนคติด้านบวก

แม้ว่าประชากรในประเทศรายได้สูงส่วนใหญ่ต่างมีทัศนคติด้านลบต่อจีน แต่ผลสำรวจพบว่าประเทศรายได้ปานกลางจำนวนมากยังคงมีทัศนคติด้านบวกต่อจีน ยกเว้นอินเดีย ตัวอย่างเช่น กลุ่มตัวอย่าง 72% ในเคนยา 80% ในไนจีเรีย และ 57% ในเม็กซิโกที่มีความคิดด้านบวกต่อจีน

คริสทีน หวง แห่งศูนย์วิจัยพิว กล่าวว่า ผลวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำมีแนวคิดด้านลบต่อจีนน้อยลง "ประเทศรายได้กลางวิพากษ์วิจารณ์จีนน้อยลง และมีจำนวนมากขึ้นที่ชื่นชม 'ซอฟต์พาวเวอร์' ของจีน

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศรายได้ปานกลางยังมองสินค้าเทคโนโลยีจากจีนว่า "มีคุณภาพ" และยังให้คะแนนที่ดีสำหรับสินค้าเพื่อความบันเทิง ตลอดจนสถาบันการศึกษาและมาตรฐานการครองชีพของประชาชน

ถึงกระนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราส่วนของผู้มีทัศนคติด้านลบต่อจีนในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

ภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง?

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่ใน 24 ประเทศที่ทำการสำรวจค่อนข้างมีความมั่นใจน้อยลงต่อความสามารถของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการ "ทำสิ่งที่ถูกต้อง" ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการโลก

โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างในยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือและเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าไม่มีความมั่นใจในตัวผู้นำจีนคนปัจจุบัน ขณะที่ส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย เคนยา และแอฟริกาใต้ แสดงความมั่นใจในความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีสีบนเวทีโลก

รายงานของพิวพบว่า ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบต่อจีน มักมีความไม่มั่นใจในตัวประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ควบคู่กันไปด้วย

ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 42% ยังมองว่าอเมริกาคือประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก เทียบกับ 33% ของจีน โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในส่วนที่เชื่อว่าสหรัฐฯ คือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่มาจากประเทศรายได้สูง เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน

และเมื่อถามว่าประเทศใดคือภัยคุกคามอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ 50% ของคนอเมริกันตอบว่าจีน โดยในจำนวนนี้มีมากกว่า 70%เชื่อว่าจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเศรษกิจและความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

  • ที่มา: วีโอเอ