การจับมือกันระหว่างศัตรูทางการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงการไต่สวน 44 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ที่เกินครึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาในนามพรรคประชาชน ถูกรายงานโดยสำนักข่าวต่างชาติ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร โดยคาดว่าจะเสนอชื่อของหัวหน้าพรรค เฉลิมชัย ศรีอ่อน และเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค เข้ารับตำแหน่งในโควต้ารัฐมนตรี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ 25 คน จะเข้ามาทดแทน 40 ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นฐานของกลุ่มสนับสนุนอดีตรัฐบาลทหาร ซึ่งพรรคเพื่อไทยตัดขาดออกจากการร่วมรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ ทำให้ตัวเลขของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล จะอยู่ที่ประมาณ 300 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภาล่าง
การเข้าร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ ถือเป็นการปิดฉากภาวะศัตรูที่ยาวนานอย่างน้อย 20 ปี ที่ประชาธิปัตย์มีต่อพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยที่เป็นพรรคไทยรักไทยที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าทำนโยบายประชานิยม ทุจริต และเอื้อพวกพ้อง
ตลอดเวลาของความไม่ลงรอยของสองพรรค ประเทศไทยได้เห็นการชุมนุมของผู้สนับสนุนของทั้งสองพรรคหลายครั้ง ที่ในบางหนก็ลงเอยด้วยความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต ก่อนที่จะจบลงด้วยรัฐประหารยึดอำนาจสองครั้ง ในปี 2549 และ 2557
แพทองธาร ซึ่งเป็นลูกสาวคนสุดท้องของทักษิณ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลให้เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ จากพรรคเพื่อไทยต้องหลุดจากตำแหน่ง ไม่กี่วันก่อนบริหารประเทศครบหนึ่งปี
บลูมเบิร์กรายงาน โดยอ้างอิงจากภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ว่ารายชื่อของรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคเสนอเข้ามากำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะกินเวลาไปถึงกลางเดือนกันยายน
เป็นที่คาดกันว่าภูมิธรรมจะได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควบตำแหน่งรองนายกฯ ตามการรายงานของสื่อฐานเศรษฐกิจ
อีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนและกำลังรวบรวมพยานหลักฐาน กรณีตรวจสอบจริยธรรมของ 44 ส.ส. อดีตพรรคก้าวไกล ที่มีผู้มาร้องเรียน กรณีร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายหลายชุด รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อปี 2564
ในจำนวน 44 ส.ส. นี้ มี 25 คนที่ยังดำรงตำแหน่งในฐานะสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติในนามพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคใหม่ของพรรคก้าวไกล ที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ระบุว่าการนำการแก้ไข ม.112 ไปหาเสียง ถือเป็นการกระทำที่ล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวกับรอยเตอร์ในวันศุกร์ว่ากระบวนการในตอนนี้อยู่ในขั้นรวบรวมหลักฐาน และยังไม่มีการดำเนินคดีผู้ถูกร้อง
หลังจากนี้ หาก ป.ป.ช. พิจารณาว่ามีหลักฐานเพียงพอจนเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องละเมิดจริยธรรม ก็จะดำเนินการฟ้องร้องและนำเรื่องขึ้นสู่กระบวนการในชั้นศาล และหากศาลตัดสินว่ามีความผิด 44 ส.ส. ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ดังที่พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ถูกตัดสิทธิ์ กรณีมีภาพในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์
หากเป็นเช่นนั้น หมายความว่าจำนวน ส.ส. ของพรรคประชาชน 25 คน จะต้องถูกตัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียที่นั่งในสภาหรือการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ในกรณีที่ผู้ถูกตัดสิทธิ์เป็น ส.ส. จากเขตเลือกตั้ง
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. จากพรรคประชาชน หนึ่งใน 44 รายชื่อที่ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบ กล่าวว่าไม่กังวลกรณีการถูกตัดสิทธิ์การเมือง และกำลังเตรียมตัวต่อสู้ในทางกฎหมาย
ศิริกัญญากล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น คือกรณีที่คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เป็นไปในทางที่ไม่เป็นคุณกับพวกเธอ ซึ่งจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าการพยายามแก้ไขกฎหมายถูกตีความว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การแก้ไข ม.112 หรือกฎหมายอื่น ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้
ม.112 อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ มีโทษจำคุก 3-15 ปี แก่การกระทำที่ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายแก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ซึ่งบ่อยครั้งถูกประชาคมนานาชาติตั้งคำถามถึงปัญหาในการตีความ และความเป็นการเมืองในกระบวนการพิจารณาคดี
- ที่มา: รอยเตอร์, บลูมเบิร์ก