ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ปลด ‘เศรษฐา’ การเมืองไม่เปลี่ยนขั้ว - ศาล รธน. ยังทรงอำนาจ


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (กลาง) จับมือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ในการแถลงข่าววันที่ 15 สิงหาคม 2567 (ที่มา: AP)
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (กลาง) จับมือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ในการแถลงข่าววันที่ 15 สิงหาคม 2567 (ที่มา: AP)

การลงจากตำแหน่งอย่างฉับพลันของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน นำมาซึ่งความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิเคราะห์ชวนจับตามองการก่อรูปก่อร่างของรัฐบาลใหม่ ภายใต้บริบทอำนาจขององค์กรอิสระในทางการเมืองที่ยังไม่เห็นวี่แววการปฏิรูป

พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล แถลงข่าวร่วมกันเพื่อประกาศว่า จะเสนอชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รับการโหวตเพื่อเป็นนายกฯ คนที่ 31 ของไทยเมื่อวันพฤหัสบดี ก่อนจะมีการลงมติที่รัฐสภาในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ตามการรายงานของเอพีและรอยเตอร์

แพทองธารกล่าวว่า มั่นใจในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคในแก้ปัญหาเศรษฐกิจและผลักดันประเทศให้ไปต่อ

หากได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ประเทศไทยจะมีนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดที่ 37 ย่าง 38 ปี เป็นผู้นำหญิงเป็นคนที่สอง และเป็นผู้ใช้นามสกุล “ชินวัตร” คนที่สามที่นั่งตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหาร

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ประเมินว่าคงไม่มีการสลับขั้วการเมืองไปจากเดิม เพราะตัวเลขที่มีอยู่ในมือของฝ่ายรัฐบาลนั้นเกิน 248 เสียง ถือว่าเกินจำนวนที่ต้องการสำหรับจัดตั้งรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรที่ปัจจุบันมีสมาชิก 493 คน

อีกเหตุผลหนึ่งที่สติธรมองว่าจะไม่มีการเปลี่ยนขั้ว คือความบาดหมางที่ลงลึกไปถึงฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน (ก้าวไกลเดิม) รวมถึงความเสี่ยงที่มีต่อพรรคเพื่อไทยหากตัดสินใจเป็นอื่น

“โดยสภาพว่าวันนี้เพื่อไทยย้ายขั้วมาดีลกับฝั่งอำนาจเก่าแล้ว คุณทักษิณและครอบครัวและคนอื่น ๆ ถูกล็อกไว้ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ นานามากมาย ถ้าวันนี้คุณทรยศหักหลังดีล คุณก็จะถูกจัดการ ซึ่งเครื่องมือในการจัดการนักการเมืองทุกวันนี้มีเยอะมาก เต็มไม้เต็มมือของกลุ่มอำนาจเก่ามาก อันนี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยแหกดีลยากมาก” สติธรกล่าว

ปัจจุบัน อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อยู่ระหว่างการพักโทษจากคดีเก่าที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 8 ปี ก่อนได้รับการอภัยลดโทษให้เหลือ 1 ปีและกำลังจะพ้นโทษในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ แต่ก็ยังเหลือคดีถูกฟ้องว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยังอยู่ในชั้นศาลและได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดี

มากไปกว่าการจัดกระบวนการเมืองในระยะไม่กี่วันข้างหน้านี้ คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ สามารถชี้ชะตาของสองพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทยอย่างก้าวไกลและเพื่อไทยได้ในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์

ผศ.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า การรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ทำให้สถาบันการเมืองในไทยเปราะบางและอ่อนแอจนคลี่คลายความขัดแย้งไม่ได้ ในขณะที่เขตอำนาจขององค์กรตุลาการก็กินแดนเข้ามาตัดสินข้อพิพาททางการเมืองมากขึ้น หรือที่เรียกว่า การเมืองเชิงตุลาการ (Judicialization of Politics)

“ในสภาพเช่นนี้เอง ทำให้ศาลมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ พอร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ก็ยิ่งผ่องอำนาจไปที่ตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำถามบางอย่างที่เป็นคำถามจริยธรรม เช่น คำถามเมื่อวานซึ่งควรถูกตัดสินด้วยเพื่อน ส.ส. ด้วยกันเอง มันก็กลายเป็นคำถามทางคดีขึ้นมา” เข็มทองกล่าว

อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุุฬาฯ มองว่าการที่ศาลเข้ามาชี้ขาดข้อพิพาทหรือคำถามทางการเมืองมากขึ้น ทำให้ศาลกลายเป็นผู้เล่นทางการเมือง และอาจนำไปสู่ข้อสงสัยเรื่องความชอบธรรมจากประชาชน

“เมื่อมันเกิดเหตุการณ์ที่ศาลถูกดึงเข้าไปในการเมือง แล้วศาลก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อต้าน กลายเป็นว่าศาลถูกกลืน หรือทั้งศาลถูกแต่งตั้งโดยอำนาจกลุ่มเดียวกันหรืออำนาจลักษณะเดียวกัน แล้วก็ตัดสินไปในทางนั้นเองหมด ก็แน่นอนว่าสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะตุลาการที่ต้องเป็นกลางไปแล้ว พอสูญเสียตรงนี้ไป ปัญหาต่อไปก็คือประชาชนที่เฝ้ามอง จะยอมรับคำวินิจฉัยพวกนี้ได้มากน้อยแค่ไหน”

บนเส้นทาง 2 ทศวรรษของการมีศาลรัฐธรรมนูญ พรรคที่ก่อตั้งโดยตระกูลชินวัตรถูกศาลวินิจฉัยในทางลบมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง เช่น การยุบพรรคไทยรักไทยหลังรัฐประหาร 2549 การปลดนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ จากพรรคพลังประชาชนออกจากตำแหน่ง จากกรณีเป็นพิธีกรในรายการทำอาหาร รวมถึงการปลดนายเศรษฐาในครั้งล่าสุด

เข็มทองมองว่าการลดบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดขอบเขตอำนาจ เช่น จำกัดบทบาทให้ศาลพิจารณาเพียงข้อพิพาทในทางกฎหมาย ตัดอำนาจการพิจารณาในประเด็นจริยธรรม ไปจนถึงแก้ไขปรับปรุงกระบวนการสรรหาตุลาการ

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถูกมองจากนักวิเคราะห์ว่าแก้ไขได้ยาก เนื่องจากต้องรวมเสียงสนับสนุนให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสองสภา และต้องได้รับเสียงสนับสนุน 20% จากฝ่ายค้าน และ 1 ใน 3 จากสมาชิกวุฒิสภา และในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจศาลและองค์กรอิสระ ก็ต้องทำประชามติ ซึ่งเข็มทองมองว่าในสภายังไม่เห็นว่ามีเจตจำนงที่เข้มแข็งมากพอที่จะฝ่าด่านเหล่านี้

“ทิศทางของพรรคเพื่อไทย แม้จะเสียคุณเศรษฐาไป แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไร ก็เสนอนายกฯ ใหม่ และก็ยังกุมอำนาจในสภาล่างอยู่ก็พอใจแล้ว ขณะที่สีน้ำเงิน พรรคภูมิใจไทยจะเห็นว่าเสียงในสภาสูงที่เป็น gatekeeper คนสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญก็ยืนยันเหมือนกันว่าคงจะไม่แก้ เท่าที่ดูตอนนี้ฝ่ายการเมืองยังแฮปปี้กับการดีลกันและไม่ไปทำให้อำนาจต่าง ๆ โกรธ มากกว่าที่จะยอมผ่าตัดปฏิรูปโครงสร้างนี้”

การโหวตนายกฯ ครั้งนี้ยังดำเนินไปตามเงื่อนไขกติกาเดียวกันเมื่อครั้งหลังเลือกตั้งปี 2566 ยกเว้นเพียงแค่สมาชิกวุฒิสภาไม่มีสิทธิ์ร่วมลงคะแนนเสียงตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แพทองธารไม่ได้รับเสียงรับรองเกินกึ่งหนึ่ง จะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถเสนอชื่อเธอเป็นแคนดิเดตได้อีกครั้ง และโอกาสการรับตำแหน่งเป็นนายกฯ จะไหลไปสู่แคนดิเดตคนอื่นที่ยังเหลืออยู่ ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริ (เพื่อไทยคนสุดท้าย) นายอนุทิน ชาญวีรกูล (ภูมิใจไทย) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พลังประชารัฐ) นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค (รวมไทยสร้างชาติ) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (ประชาธิปัตย์) รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี แต่ก็ยังมีชื่อในฐานะแคนดิเดตของพรรครวมไทยสร้างชาติ

การเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ยังกลายเป็นประโยคคำถามไปยังทิศทางนโยบายที่ดำเนินไปแล้วในรัฐบาลเศรษฐาด้วย โดยเฉพาะ “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ที่มีการเดินหน้าให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ”

สื่อไทม์รายงานว่า การถอดถอนเศรษฐา นำมาซึ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่ไทยเผชิญกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 2% มาร่วมทศวรรษ

จดหมาย "ด่วนที่สุด" จากเลขาธิการรัฐสภา ลงวันที่ 14 ส.ค. ระบุว่าการประชุมเลือกนายกฯ คนใหม่ในวันศุกร์นี้ จะเริ่มต้นในเวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: รอยเตอร์, ไทยพีบีเอส, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG