Your browser doesn’t support HTML5
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science and Technology Letters ทีมนักวิจัยจากสถาบัน Slient Spring เปิดเผยว่า บรรจุภัณฑ์อาหารที่กันการเกาะติดของไขมัน ที่มักใช้ในร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด มีสารละลายประเภทสารฟลูออรีนหลายชนิด ซึ่งเป็นสารเคลือบผิวที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยสารเคมีเหล่านี้อาจจะซึมออกมาสู่อาหารได้
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า การศึกษานี้ถือว่าเป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่ครอบคลุมทุกด้าน เกี่ยวกับการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีสารเคลือบประเภทนี้ในปริมาณสูงในบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ
ทีมนักวิจัยได้ทดสอบตัวอย่าง 400 ตัวอย่างจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด 27 ยี่ห้อ เพื่อตรวจหาดูสารเคมี Fluoropolymer ที่เรียกว่า PEAS หรือ สาร PFC ที่พบในวัสดุที่เคลือบกันน้ำ กันการเกาะติดของอาหาร ผ้ากันเปื้อน รวมทั้งพรม เครื่องทำครัว
ตัวอย่างที่ทีมนักวิจัยศึกษาวิเคราะห์นี้ รวมทั้ง กระดาษห่ออาหาร ที่บรรจุเครื่องดื่ม และ กล่องกระดาษแข็งใส่อาหาร
Laurel Schaider นักเคมีสิ่งแวดล้อมแห่งสถาบัน Slient Spring และหัวหน้าการศึกษานี้ กล่าวว่า สารเคมีเคลือบเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่าง จึงเป็นที่น่ากังวล เพราะผู้บริโภคอาจจะได้รับสารเคมีอันตรายเหล่านี้ผ่านการรับประทานอาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีสารเคลือบประเภทนี้
เธอกล่าวว่าการได้รับสาร PEASs เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคภูมิต้านทานบกพร่อง น้ำหนักตัวทารกแรกคลอดต่ำและภาวะมีบุตรยาก
เธอกล่าวว่า เด็กๆ มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ต่อผลกระทบทางสุขภาพจากสารอันตรายเหล่านี้ เนื่องจากร่างกายของเด็กยังอยู่ระหว่างการเจริญเติบโตและพัฒนา คุณ Schaider กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กอเมริกันราว 1 ใน 3 คนรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำทุกวัน
ในผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารฟ้าสฟู้ด ทีมนักวิจัยกล่าวว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างกล่องกระดาษแข็ง รวมทั้งกล่องกระดาษที่ใช้บรรจุมันฝรั่งทอดและพิซซ่า ล้วนแต่มีสารฟลูออรีนเคลือบอยู่ นอกเหนือจากนี้ กระดาษห่อขนมปังและขนมหวานก็น่าจะมีสารฟลูออรีนเช่นกัน
ในการวิเคราะห์ย่อยอย่างละเอียด กับตัวอย่างบรรจุภัณฑ์อาหารอีก 20 ตัวอย่าง ทีมนักวิจัยพบว่า โดยรวมแล้วบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดมีสารฟลูออรีนในปริมาณสูงและยังมีสาร PEAS อีกด้วย
ตัวอย่าง 6 ตัวอย่างจากทั้งหมด มีสาร PEAS ประเภทที่มีห่วงโซ่ยาวที่เรียกว่า PFOA (perfluorooctanoic acid) หรือที่รู้จักกันว่าสาร C8 ซึ่งผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในสหรัฐฯ หลายบริษัทได้ตกลงหยุดการใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว หลังจากสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ได้ทบทวนเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 2011
ด้าน Arlene Blum ผู้ก่อตั้ง Green Science Policy Institute และผู้ร่วมร่างรายงานผลการศึกษานี้ กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องยุติใช้สารเคมีในกลุ่มฟลูออลีนนี้ทั้งหมด แต่ยังมีข่าวดีที่ว่ามีสารเคมีทางเลือกที่ไม่มีสารฟลูออรีนให้เลือกใช้
ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ ชี้ว่าแม้ว่าสารฟลูออรีนจะเลิกใช้ไปในที่สุด ก็ยังเป็นไปได้ที่สารนี้อาจจะกลับเข้ามาสู่ร่างกายคนเราได้อีก โดยผ่านการรีไซเคิ่ลวัสดุเหล่านี้ และจากหลุมฝังกลบขยะที่มีสารเคมีชนิดนี้อยู่ และเข้าไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน
(รายงานโดย VOA News / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)