มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ หลายแห่งปิดตัวหลังแบกค่าใช้จ่ายเพิ่ม - นักศึกษาหด

Your browser doesn’t support HTML5

มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ หลายแห่งปิดตัวหลังแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว

บริษัทวิจัยแกลล็อบ (Gallup) ได้สอบถามความคิดเห็นของบรรดาหัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินในสถาบันการศึกษาอเมริกันมากกว่า 400 แห่งว่า เห็นด้วยหรือไม่กับรายงานข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับวิกฤติทางการเงินของระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา?

โดย 70 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ตอบเเบบสอบถาม บอกว่า พวกเขาเชื่อว่ารายงานข่าวของสื่อมวลชนเหล่านั้นถูกต้อง

วัลเลอรี คัลเดโรน (Valerie Calderon) นักวิจัยอาวุโสของบริษัทแกลล็อบ (Gallup) กล่าวว่า ความกังวลเรื่องนี้น่าจะมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าชาวอเมริกันจำนวนมากรู้สึกว่ามีเงินน้อยลงที่จะใช้ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ค่าใช้จ่ายในการเรียนในระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ คัลเดโรน กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตในอัตราที่ช้าลงอีกด้วย เป็นสาเหตุให้ครอบครัวชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งต้องคิดทบทวนหลายครั้ง ก่อนจะลงทุนจ่ายเงินจำนวนมากไปกับปริญญาบัตรที่ราคาแพงลิบลิ่ว

National Student Clearinghouse ซึ่งเป็นองค์การที่ศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาของชาวอเมริกัน พบว่า มีนักศึกษาจำนวนน้อยลงในสหรัฐฯ ที่สมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเมื่อปีที่แล้ว องค์การนี้รายงานว่ามีจำนวนนักศึกษาทั้งหมดที่เรียนในระดับอุดมศึกษาในสหรัฐฯ ลดลงกว่าปีก่อนหน้าถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์

นี่ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วทำไมค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาจึงเเพงขึ้นอย่างมาก? ซึ่งคัลเดโรน กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของสาเหตุมาจากบรรดามหาวิทยาลัยได้ว่าจ้างผู้บริหารมากขึ้น

เธอกล่าวว่า บรรดามหาวิทยาลัยได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ที่มีเงินเดือนสูงเพิ่มขึ้น โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีหน้าที่สอน ทำให้อัตราส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่กับนักศึกษาเพิ่มขึ้น

เคน เรด (Ken Redd) นักวิจัยอาวุโสเเห่ง National Association of College and University Business Officers กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้ว่าจ้างคนเข้าทำงานมากขึ้น โดยงานของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนโดยตรง เเต่นั่นเป็นเพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลักษณะประชากรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยจำนวนมากในสหรัฐฯ ได้พยายามมากขึ้นกว่าแต่ก่อนในการช่วยนักศึกษายากจนให้ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย

เรด กล่าวว่า นักศึกษายากจนเหล่านี้อาจจะต้องการการสนับสนุนมากขึ้นในการเรียนหนังสือ เพราะนักศึกษาเหล่านี้ส่วนมากมักเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมที่ไม่มีประสิทธิภาพในการเตรียมตัวนักเรียนให้พร้อมกับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากขึ้นที่ช่วยสนับสนุนนักศึกษาที่ประสบความปัญหาอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ปัญหาทางกายและทางจิต ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยต้องว่าจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลืองานด้านนี้ งานต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามานี้ทำให้ค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้ค่าเล่าเรียนสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังได้กำหนดกฏระเบียบมากขึ้นให้บรรดาวิทยาลัยเเละมหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตาม ยกตัวอย่าง ในปี ค.ศ. 2015 หรือสามปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐฯ เริ่มบังคับให้มหาวิทยาลัยตั้งสำนักงานของตนขึ้นเพื่อรับเเจ้งเเละสอบสวนคำร้องเรียนเกี่ยวกับการรังควานทางเพศเเละการเลือกปฏิบัติ เเละเเน่นอนว่างานที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เรด กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้พยายามอย่างมากในการแก้ปัญหาค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นของนักศึกษา เงินช่วยเหลือด้านการศึกษาได้เพิ่มขึ้นโดยรวมทั้งหมด มหาวิทยาลัยบางแห่งเสนอลดค่าเล่าเรียนลงมาเป็นพิเศษ เเละมีข้อจำกัดไม่ให้ค่าเล่าเรียนเพิ่มสูงขึ้น

เเต่ เรด ชี้ว่าการลดจำนวนลงของนักศึกษาที่เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเเละทรัพยากรทางการเงินที่มีจำกัด อาจส่งผลให้มหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กเสี่ยงต่อการปิดตัว โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตชนบท เขากลัวว่าการปิดตัวของมหาวิทยาลัยในชนบทจะกระทบต่อนักเรียนที่อาศัยในพื้นที่ีที่ห่างไกลของสหรัฐฯ

เรด กล่าวว่า นักศึกษาในสหรัฐฯ 8 คนจาก 10 คนไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่ห่างจากบ้านไปเป็นระยะทาง 20 ไมล์หรือ 32 กิโลเมตร เขากล่าวว่าหากมหาวิทยาลัยใกล้บ้านปิดตัวลงในชุมชนชนบท อาจทำให้นักศึกษาเลิกเรียนในระดับอุดมศึกษาเพราะไม่พร้อมที่จะย้ายไปเรียนในเมืองหรือในต่างรัฐ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศว่าไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้เเละปิดตัวลง ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัย St. Gregory's ใน Oklahoma มหาวิทยาลัยศิลป์ Memphis เเละมหาวิทยาลัย Grace ใน โอมาฮา รัฐเนบราสก้า ต่างประกาศว่าจะปิดตัว

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)