ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ดูการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของนักศึกษาประกอบการพิจารณาใบสมัคร


This June 16, 2017 photo shows social media app icons on a smartphone held by an Associated Press reporter in San Francisco.
This June 16, 2017 photo shows social media app icons on a smartphone held by an Associated Press reporter in San Francisco.

พฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อการสมัครเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ

จอร์จ ดาพอนเต้ (George DaPonte) ผู้อำนวยการฝ่ายรับสมัครนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทมป้า (Tempa) มหาวิทยาลัยเอกชนในเทมป้า รัฐฟลอริดา กล่าวว่า วิทยาลัยเเละมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ส่วนมากกำลังใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการแชร์ข้อมูลกับผู้สมัคร

ดาพอนเต้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาพบว่านักศึกษารุ่นปัจจุบันตอบสนองดีมากต่อสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเทียบกับการสื่อสารที่เป็นทางการน้อยกว่า ดังนั้น มหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงโพสต์ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหรือข่าวสารรอบรั้วมหาวิทยาลัย

การใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นการส่งสารโดยตรงไปยังตัวนักศึกษา แทนที่จะปล่อยให้นักศึกษาค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง เเละดาพอนเต้บอกว่า นอกจากจะเป็นวิธีการสื่อสารเเบบใหม่ของมหาวิทยาลัยเเล้ว มหาวิทยาลัยเองยังใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการติดตามดูว่านักศึกษาโพสต์เรื่องอะไรกันบ้าง เเละข้อมูลที่ผู้สมัครเข้าเรียนต่อโพสต์ทางสื่อเหล่านี้กระทบต่อผลการสมัครเข้าเรียนต่อด้วย

ในปีนี้ บริษัทแคพลัน (Kaplan) ที่ให้บริการเตรียมตัวสอบ เปิดเผยผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยว่า ใช้ข้อมูลที่ผู้สมัครโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์มาร่วมพิจารณาด้วย

เจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาเกือบ 400 คน ถูกสอบถามในเรื่องนี้ เเละราว 70 เปอร์เซ็นต์บอกว่าถือว่ายุติธรรมที่พวกเขาใช้ข้อความที่ผู้สมัครโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์พิจารณาร่วมด้วย ว่าควรรับนักศึกษาเข้าเรียนต่อหรือไม่

แต่ดาพอนเต้แย้งว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาคนใดที่ตัดสินใจเรื่องนี้โดยพึ่งข้อมูลจากข้อความที่ผู้สมัครโพสต์ทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว เเต่ยังคงใช้ข้อมูลต่างๆ ประกอบในการพิจารณาผู้สมัคร อาทิ ผลการศึกษาระดับมัธยม รางวัล เเละกิจกรรมจากนอกโรงเรียน เเละจดหมายรับรองจากครู

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าผู้สมัครที่ข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น เป็นเหตุผลเพียงไม่กี่อย่างที่ทำให้มหาวิทยาลัยส่วนมากในสหรัฐฯ จะทบทวนการพิจารณารับเข้าเรียนต่อ

คริสโตเฟอร์ ทอริบีโอ (Kristoffer Toribio) รองผู้อำนวยการฝ่ายรับสมัครนักศึกษานานาชาติที่วิทยาลัยออเรนจ์ โคสท์ วิทยาลัยชุมชนในเขตปกครองออเรนจ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่ากิจกรรมทางสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สมัครเข้าศึกษาต่อมีผลต่อการพิจารณา เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับสมัครนักศึกษาไม่สามารถรู้ได้ถ่องเเท้ว่าผู้สมัครเป็นคนอย่างไรจากการอ่านข้อมูลในใบสมัครเท่านั้น ดังนั้น การได้อ่านสิ่งที่ผู้สมัครได้โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์จึงช่วยให้ได้รู้จักผู้สมัครมากขึ้น นอกเหนือจากความสามารถทางการเรียน

ทอริบีโอชี้่ว่า เจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาเป็นคนรุ่นแก่กว่าผู้สมัครมาก เเละยังมีความแตกต่างด้านประสบการณ์กับสื่อสังคมออนไลน์เมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ เพราะเริ่มใช้งานเมื่ออายุมากแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าใจต่างจากนักศึกษาในประเด็นพฤติกรรมที่เหมาะสมเเละไม่เหมาะสมทางสื่อสังคมออนไลน์

ซึ่งความเข้าใจที่แตกต่างกันนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจไม่รับผู้สมัครบางคนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ทอริบีโอกล่าวว่า เป็นเรื่องฉลาดหากผู้สมัครจะใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ ควรครุ่นคิดก่อนจะโพสต์ข้อความหรือรูปภาพทางลบ อาจเป็นภาพตัวเองในงานปาร์ตี้หรือหรือภาพกำลังใช้ยาเสพติดหรือใช้ภาษาที่ส่อถึงการเหยียดสีผิว เพราะภาพเเละข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาอาจนำไปใช้ในขั้นตอนพิจารณาใบสมัคร

เขากล่าวเสริมว่า มีกิจกรรมทางบวกหลายอย่างที่ผู้สมัครสามารถโพสต์ทางออนไลน์ได้ เเละอาจส่งผลดีต่อใบสมัครเรียนต่อ อาทิ การรณรงค์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือการแชร์ข้ิอมูลเกี่ยวกับงานสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือการแสดงงานศิลปะเเละโครงการธุรกิจ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายเเก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG