จีน ความสัมพันธ์กับรัสเซีย และสงครามในยูเครน

FILE - Russian President Vladimir Putin holds a meeting with Chinese President Xi Jinping via a video link at the Kremlin in Moscow, Dec. 30, 2022. (Mikhail Klimentyev / Sputnik / AFP)

เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่รัสเซียส่งกองทัพรุกรานยูเครน และวันนี้ก็เริ่มมีคำถามใหม่ ๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับจุดยืนของจีนในการความช่วยเหลือทางทหารแก่กรุงมอสโก หลังผู้นำของทั้งสองประเทศประกาศย้ำความเป็นหุ้นส่วน “แบบไร้ขีดจำกัด” ไม่นานก่อนสงครามครั้งนี้จะเปิดฉากขึ้น

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่มีการแพร่ภาพออกมาเมื่อวันอาทิตย์ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เชื่อว่า จีนกำลังพิจารณาส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธและกระสุนให้กับรัสเซีย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า จะเป็น “ปัญหาร้ายแรง”

China Russia Energy Ties

และเมื่อวันจันทร์ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ ว่า “ทำการโหมไฟและจี้ให้เกิดการเผชิญหน้า” ด้วยการนำส่งอาวุธเพื่อการป้องกันตนเองให้ยูเครน และกล่าวว่า กรุงปักกิ่งจะ “ไม่ยอมรับการชี้นิ้ว(ของสหรัฐฯ) หรือแม้แต่การบีบบังคับและแรงกดดันต่อความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย เป็นอันขาด”

จีนให้การสนับสนุนรัสเซียหรือไม่อย่างไร

จีนนั้นพยายามเดินเกมด้วยความระมัดระวังในประเด็นสงครามยูเครนที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซีย โดยที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งให้การสนับสนุนด้านการทูตแก่รัฐบาลมอสโกด้วยการหลีกเลี่ยงการประณามการกระทำของรัสเซีย หรือเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การรุกราน” ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสิ่งที่เครมลินพยายามย้ำว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ที่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัสเซียเอง

และขณะที่จีนพยายามเรียกร้องให้เกิดสันติภาพมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กลับยืนเคียงข้างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มาโดยตลอด ด้วยการปฏิเสธแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้โดดเดี่ยวรัสเซีย

Russian frigate Admiral Gorshkov ahead of scheduled naval exercises with South African and Chinese navies in Richards Bay

แม้จะไม่มีหลักฐานว่า จีนได้ส่งอาวุธหรือความช่วยเหลือทางทหารให้รัสเซีย กองทัพของทั้งสองมีการเข้าร่วมการซ้อมรบทางทหารกันบ้าง ตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครนมา โดยครั้งล่าสุด ทั้งสองประเทศส่งเรือรบเข้าร่วมซ้อมรบกับกองทัพเรือแอฟริกาใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้

นอกจากนั้น จีนยังยกระดับการทำการค้ากับรัสเซีย โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานที่ทำให้มอสโกยังพอมีรายได้มาค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตกอยู่

ต้นทุนจีนที่ต้องจ่ายเพื่อสนับสนุนรัสเซีย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การสนับสนุนรัสเซียโดยจีนนั้นทำให้ความรู้สึกดี ๆ ที่ชาติตะวันตกมีให้กับจีนเสียหายหนัก ทั้งยังทำให้ความพยายามของกรุงปักกิ่งที่จะทำให้ยุโรปและสหรัฐฯ แตกแยกไม่เกิดขึ้นดังหวัง

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวด้านการทูตกล่าวว่า การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียก็ทำให้จีนตกอยู่ในสภาพทำตัวไม่ถูกและต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง เพราะปธน.ปูติน ไม่ได้เตือนปธน.สี มาก่อนว่าจะดำเนินการรุกรานยูเครนระหว่างที่ทั้งสองพบกันที่กรุงปักกิ่ง ก่อนจะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปีที่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น สงครามนี้ทำให้จีนกระอักกระอ่วน เพราะหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของจีนก็คือ การให้ความเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่น ๆ

จีนได้อะไรจากเรื่องนี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า สงครามครั้งนี้ทำให้รัสเซียต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น และทำให้มอสโกกลายมาเป็นหุ้นส่วนรองของจีนพร้อม ๆ กับทำให้สถานะความเป็นผู้นำของจีนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อต้านความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกนั้น ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นด้วย

อเล็กซานเดอร์ กาบูเอฟ นักวิชาการอาวุโสจาก Carnegie Endowment for International Peace ให้ความเห็นว่า “จีนนั้นมีจุดมุ่งหมายหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ... จบ... รัสเซียที่อ่อนแอ น่าจะเป็นรัสเซียที่ดีกว่าในด้านผลประโยชน์ต่อพวกเขา (จีน)”

Russia Energy Revenue

ข้อมูลจาก Refinitiv ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บข้อมูลตลาดการเงินและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ระบุว่า จีนได้นำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียในราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิงในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก จนทำให้มูลค่าเฉลี่ยการนำเข้ารายวันเพิ่มขึ้นราว 45% ตั้งแต่ช่วงหลังเกิดสงครามจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

และเนื่องจากจีนมีความกังวลเกี่ยวกับการขยายนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ มายังพื้นที่ทะเลจีนใต้อยู่แล้ว การออกมาร่วมปฏิเสธการเพิ่มจำนวนสมาชิกองค์การนาโต้เข้าไปภูมิภาคที่รัสเซียมองว่าเป็นเหมือน “สวนหลังบ้าน” ของตน ก็เป็นการแสดงท่าทีต่อต้านกิจกรรมใด ๆ ก็ตามของสหรัฐฯ ในภูมิภาครอบ ๆ จีนด้วย

ความเป็นพันธมิตร “ไร้ขีดจำกัด” มีจริงหรือ

จีนนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการนำส่งความช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงอาวุธ ให้กับรัสเซียเพื่อไม่ให้ตนต้องเจอกับมาตรการลงโทษจากนานาชาติ แต่ก็ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อคำเตือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ว่า กรุงปักกิ่งไม่ควรส่งอาวุธให้รัสเซียด้วย

นอกจากนั้น กรุงปักกิ่งยังพยายามใช้วาทศิลป์ที่มุ่งสร้างระยะห่างระหว่างตนกับกรุงมอสโก เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับชาติตะวันตกเสียหายจนฟื้นฟูลำบาก แต่ก็ใช้อิทธิพลของตนที่มีต่อมอสโกในการเรียกร้องให้ปธน.ปูติน ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน

จุดยืนของจีนเรื่องสงครามยูเครนเปลี่ยนไปหรือไม่

จีนออกมาแสดงบทบาทในเวทีสาธารณะอย่างแข็งขันมากขึ้น หลังออกตัวสนับสนุนการเจรจาสันติภาพเป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่ได้ลงมือทำการใด ๆ อย่างจริงจัง

ในวันศุกร์นี้ มีการคาดกันว่า ปธน.สี แห่งจีนจะขึ้นกล่าว “ปราศรัยว่าด้วยสันติภาพ” ในวันครบรอบ 1 ปีสงครามยูเครน และรัฐบาลจีนก็น่าจะตีพิมพ์รายงานว่าด้วยจุดยืนของตนในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียด้วย

China's Director of the Office of the Central Foreign Affairs Commission Wang Yi shakes hands with Hungarian Foreign Minister Peter Szijjarto in Budapest, Hungary, February 20, 2023. REUTERS/Bernadett Szabo

ยุน เซน นักวิชาการอาวุโสจาก Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า “ด้วยความล้มเหลวของรัสเซียในสนามรบ โอกาสที่จะเกิดการเจรจาก็เริ่มสุกงอมขึ้นแล้ว ในสายตาของจีน” และว่า “การทูตแบบเดินสายโดย(ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของปธน.สี จิ้นผิง) หวัง อี้ และคำปราศรัยของ(ปธน.)สี เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชี้นำไปในทิศทางที่ว่า”

ในกรณีของ รมต.หวัง นั้น ยุน เซน พูดถึงการที่เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของจีนเพิ่งเดินทางเยือนกรุงมอสโกในสัปดาห์นี้ หลังพบกับรมต. บลิงเคน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลตะวันตกรายอื่น ๆ ในการเยือนนานาประเทศในยุโรปที่ยังดำเนินอยู่ในเวลานี้

สงครามยูเครนกระทบเจตนาของจีนต่อไต้หวันหรือไม่

กรุงปักกิ่งเฝ้าปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างสงครามในยูเครนและความตั้งใจของตนที่จะ “รวมชาติ” กับไต้หวันที่ตนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด

ในวันอังคารนี้เอง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง เรียกร้อง “บางประเทศ” ให้ “หยุดสร้างกระแสที่ว่า ‘วันนี้ ยูเครน – พรุ่งนี้ ไต้หวัน” ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการส่งข้อความให้สหรัฐฯ

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า จีนน่าจะกำลังชั่งน้ำหนักทั้งเรื่องของความพ่ายแพ้ของรัสเซียในยูเครน และเสียงตอบโต้จากประเทศอื่น ๆ ร่วมกับประเด็นแผนการณ์ของตนต่อไต้หวัน ซึ่งกรุงปักกิ่งเคยออกมาให้คำมั่นว่า จะยึดครองให้ได้แม้ต้องใช้กำลัง หากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ยุน เซน นักวิชาการอาวุโสจาก Stimson Center กล่าวว่า “ผลลัพธ์และต้นทุนของสงครามแสดงให้จีนเห็นว่า การรุกรานไต้หวันนั้นอาจไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก” และว่า “นั่นไม่ได้หมายความว่า (จีน)จะหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการเช่นนั้น ถ้าหากไต้หวันเกิดประกาศอิสรภาพขึ้นมา แต่โอกาสที่จะเกิดนั้นมีอยู่น้อยกว่ามาก”

  • ที่มา: รอยเตอร์และเอพี