เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา หวัง เหวิน คณบดีบริหารจากสถาบัน Chongyang Institute for Financial Studies ของ Remin University of China เผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาปกป้องการผนวกแคว้นไครเมียโดยรัฐบาลรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557)
หวัง ระบุในบล็อกของตนว่า ได้เดินทางเยือนรัสเซีย รวมทั้งแคว้นไครเมีย ในเดือนกันยายน และได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแคว้นดังกล่าวที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลมอสโก และยังกล่าวด้วยว่า สื่อรัสเซียกว่า 160 แห่ง พากันทำข่าว “การเดินทางเยือนไครเมียครั้งแรกของนักวิชาการหน่วยงานคลังสมองจีน” ด้วย
หวัง กล่าวว่า การเดินทางของตนนั้น “มีคุณค่าทางวิชาการอย่างมหาศาล ในแง่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน (และยัง) ทำให้มองภาพสถานการณ์ในอนาคตของรัสเซียและประเด็นสำคัญอื่น ๆ ได้อย่างถ่องแท้”
ในบทความที่ตีพิมพ์ออกมาทางเว็บไซต์ Guancha.cn นักวิชาการรายนี้ยังได้กล่าวสรรเสริญพื้นที่ไครเมียที่รัสเซียปกครองอยู่ว่า มี “การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา” และยังได้รำพึงรำพันเกี่ยวกับ “อนาคตอันยากลำบาก” ที่ไครเมียต้องเผชิญเนื่องจากสงครามที่ยังดำเนินอยู่ ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งให้กองทัพเริ่มต้นด้วยการบุกยูเครนตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
หวัง บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในไครเมียเมื่อ 8 ปีก่อนไว้ดังนี้:
"หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประเด็นที่ว่า ใครเป็นเจ้าของคาบสมุทรไครเมีย กลายมาเป็นข้อพิพาทที่ดำเนินมาอย่างยืนยาวระหว่างยูเครน รัสเซีย และรัฐบาลท้องถิ่นของไครเมีย
ไครเมียร้องขอการประกาศตนเป็นอิสระหรือไม่ก็ กลับคืนสู่รัสเซีย โดยสถานการณ์นั้นทั้งตึงเครียดขึ้นและผ่อนคลายลง จนกระทั่งวันที่ 16 มีนาคม 2557 เมื่อมีการจัดทำประชามติในไครเมีย และกว่า 96% ของผู้ออกเสียงเห็นด้วยกับการภาคยานุวัติกับรัสเซีย
รัสเซียกล่าวว่า ตนนั้นเคารพและสนับสนุนทางเลือกของชาวไครเมีย สองวันต่อมา ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน อนุมัติการภาคยานุวัติของไครเมียเข้ากับสหพันธรัฐรัสเซีย"
การบรรยายการรุกรานและการยึดครองไครเมียโดยรัสเซียดังข้างต้น ถือเป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิด
ไครเมียนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ซึ่ง นิกิตา ครูชเชฟ อดีตผู้นำในขณะนั้น สั่งโอนถ่ายแคว้นไครเมียโอบลาสต์ จากอาณาเขตที่ขึ้นตรงต่อสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (RSFSR) ให้ไปขึ้นตรงต่อสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (UkrSSR) แทน โดยสภาบริหารโซเวียตสูงสุด อนุมัติการถ่ายโอนอย่างเป็นทางการ
แต่นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า อะไรคือแรงจูงใจของการถ่ายโอนดังกล่าว
ก่อนหน้าจะมีการถ่ายโอนที่ว่า ไครเมียนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1783 ที่ ซารินา แคทเธอรีน มหาราชินี ทำการผนวกคาบสมุทรนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับจักรวรรดิของตน หลังกองทัพรัสเซียรุกรานและเอาชนะจักรวรรดิออตโตมันได้
และก่อนการผนวกโดยแคทเธอรีน มหาราชินี นั้น ไครเมียเป็นรัฐในอารักขาของจักรวรรดิออตโตมัน เป็นเวลามากว่า 3 ศตวรรษ หรือย้อนไปตั้งแต่สมัยช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1400 แต่นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า ชื่อ “ไครเมีย” เป็นภาษาชาวทาทาร์ไครเมีย ซึ่งเป็น “ชนกลุ่มน้อยชาวเติร์กที่กำเนิดขึ้นพื้นที่ของรัฐข่านไครเมีย” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The Washington Post ในปี ค.ศ. 2014
ในช่วงที่ไครเมียถูกปกครองโดยจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตอยู่นั้น ชนพื้นเมืองทาทาร์ไครเมีย รวมทั้งชาวกรีก อาร์เมเนีย และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ถูกข่มเหงรังแกและขับไล่ออกไปจากพื้นที่ในที่สุด ทำให้สัดส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรนี้เป็นชาวรัสเซีย โดยข้อมูลประชากรในปี ค.ศ. 2001 ระบุว่า สูงถึง 60% ตามมาด้วยผู้มีเชื้อสายยูเครนที่ 24% หลังการส่งตัวประชากรที่เป็นชนพื้นเมืองออกนอกอาณาเขตนี้ไปมากมาย
ข้อมูลสำมะโนอย่างเป็นทางการของไครเมีย โซเวียตและยูเครน ระบุด้วยว่า สัดส่วนประชากรคาบสมุทรไครเมียที่เป็นชาวทาทาร์ไครเมียนั้นลดลงจาก 34.1% ในปี ค.ศ. 1897 มาเหลือศูนย์ ในปี ค.ศ. 1959 ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 12% ในปี ค.ศ. 2001
The Washington Post อธิบายถึงการหดตัวหนักของสัดส่วนประชากรกลุ่มนี้จนไม่เหลือเลยในปี ค.ศ. 1959 ไว้ดังนี้:
“ครั้งหนึ่ง กองทัพแดง [โซเวียต] ยึดคืนไครเมียกลับมา [จากนาซีเยอรมัน] ในปี ค.ศ. 1944 และทำการบังคับขับประชากรชาวทาทาร์ไครเมียทั้งหมดให้ย้ายไปอยู่ในเอเชียกลาง เพื่อเป็นการลงโทษต่อการร่วมมือกับกองกำลังเยอรมนี เชื่อกันว่า เกือบครึ่งหนึ่งของชนกลุ่มนี้เสียชีวิตระหว่างทาง โดยชาวทาทาร์ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในคาบสมุทรนี้มานานหลายศตวรรษ ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับคืนสู่ไครเมียจนกระทั่งเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง”
ไครเมียกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1921 เมื่อมีการจัดตั้ง ‘สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตนเองไครเมีย’ ขึ้นมา และสาธารณรัฐแห่งนี้เปลี่ยนมาเป็นแคว้นไครเมียโอบลาสต์ในปี ค.ศ. 1945 ในฐานะแคว้นปกครองหนึ่งของโซเวียตรัสเซีย จนกระทั่งถูกย้ายไปขึ้นตรงกับโซเวียตยูเครนในปี ค.ศ. 1954
โอไรเซีย ลุตเซวิช นักวิชาการจาก Chatham House หน่วยงานคลังสมองในอังกฤษ เขียนบทความอธิบายว่า “ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตยูเครนมานานกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตรัสเซียเสียอีก”
The Washington Post ระบุไว้ด้วยว่า ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต “หลายคนคาดกันว่า ประธานาธิบดีบอริส เยลท์ซิน จะเรียกร้องให้ไครเมียกลับคืนมาเป็นของรัสเซีย” แต่เรื่องนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น
และแม้ประชากรราว 60% ของไครเมียจะมีเชื้อสายรัสเซีย ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 54% ยังคงเลือกที่จะอยู่กับยูเครน ในการทำประชามติเรื่องการประกาศอิสรภาพของยูเครนในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1991
ต่อมา ไครเมียกลายมาเป็น ‘สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย’ ซึ่งเป็นแคว้นเดียวที่มีอำนาจปกครองตนเองในยูเครน และมีรัฐธรรมนูญ ระบบนิติบัญญัติและนายกรัฐมนตรี ของตนเองด้วย จนกระทั่งปี ค.ศ. 2014 ที่รัสเซียบุกเข้ามาและประกาศผนวกดินแดนนี้เข้ากับตน หลังการประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ที่สนับสนุนรัสเซีย
ในการยึดไครเมียครั้งนั้น กำลังพลสวมหน้ากาก พร้อมสวมเครื่องแบบของรัสเซียแต่ไม่ติดตราสัญลักษณ์ใด ๆ และถืออาวุธของรัสเซียบุกเข้าไครเมีย โดยทั้งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และเจ้าหน้าที่รัสเซียอื่น ๆ พร้อมกันปฏิเสธว่า กองกำลังดังกล่าวถูกส่งมาจากรัสเซีย และเรียกกลุ่มนั้นว่าเป็น “หน่วยป้องกันตนเอง” ของชาวไครเมียในพื้นที่ ก่อนที่ ผู้นำรัฐบาลมอสโกจะยอมรับผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ว่า ทั้งหมดนั้นเป็นกองกำลังรัสเซียที่ตนสั่งให้รุกเข้าไปในไครเมีย
จากนั้น ระหว่างที่กองทัพรัสเซียควบคุมไครเมียอยู่ ก็มีการจัดทำประชามติขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม ปี ค.ศ. 2014 ซึ่งประชาคมโลกได้ออกมาประณามว่า เป็นความพยายามของรัสเซียที่จะทำการผนวกไครเมียเข้ากับตนให้ได้รับการยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ถูกทำนองคลองธรรม
สื่อ Vox รายงานในเวลานั้นว่า “การทำประชามติในเดือนมีนาคมเพื่อสรุปว่า ไครเมียจะทิ้งยูเครนมาอยู่กับรัสเซียหรือไม่ ได้รับแรงสนับสนุนถึง 97% แต่กระบวนการนั้นเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และไม่มีการสังเกตการณ์โดยหน่วยงานจากนานาชาติ ทั้งยังจัดขึ้นขณะที่ยังถูกกองทัพรัสเซียยึดครองอยู่ด้วย”
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2014 ด้วยว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในไครเมียสามารถเลือกเพียงว่า จะให้รัสเซียยึดครองบางส่วนหรือทั้งหมดเท่านั้น และไม่มีตัวเลือกว่า ‘จะยังคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งกับยูเครน’ เลย
นอกจากนั้น โอไรเซีย ลุตเซวิช นักวิชาการจาก Chatham House ยังรายงานด้วยว่า ทำเนียบเครมลิน “รายงานตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินจริงอย่างมากมาย” และอธิบายด้วยว่า
ลุตเซวิช ยังระบุในบทความที่ตีพิมพ์ออกมาในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2021 ด้วยว่า ขณะที่ รัสเซียอ้างว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ถึง 82% สมาชิกรายหนึ่งของ Presidential Council for the Development of Civil Society and Human Rights ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของประธานาธิบดีรัสเซีย กลับรายงานว่า จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์จริง ๆ นั้นน่าจะอยู่ที่ราว 30-50% โดยมีรายงานเกี่ยวกับการทุจริตการออกเสียง เช่น การลงคะแนนมากกว่าหนึ่งครั้ง ออกมาด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ มีมติที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก 100 ประเทศ ซึ่งรวมทั้ง สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในวันที่ 27 มีนาคม ปี ค.ศ. 2014 ซึ่งมีเนื้อหาชี้ว่า การทำประชามติดังกล่าว เป็นโมฆะ โดยในครั้งนั้น จีนของดออกเสียง
ที่ผ่านมา จีนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการผนวกแคว้นไครเมียของรัสเซียและจุดยืนการสนับสนุนยูเครนในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนนับตั้งแต่เมื่อสงครามครั้งล่าสุดเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของปีนี้
สื่อ Global Times ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตีพิมพ์บทความออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ที่มีเนื้อหาดังนี้:
"ฉุ่ย เหิง ผู้ช่วยนักวิจัยจาก Center for Russian Studies แห่ง East China Normal University บอกกับ Global Times เมื่อวันศุกร์ว่า จีนยึดมั่นตามหลักการที่เน้นย้ำอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่า เราเคารพในอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ
“ ‘เช่นเดียวกับจุดยืนของจีนในกรณีไครเมีย ในปี ค.ศ. 2014 เรายังคงยึดมั่นในหลักการที่ว่าด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย’ ฉุ่ย กล่าวไว้
“ต่อคำถามที่ว่า จีนจะยอมรับผลการทำประชามติในไครเมียหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปี ค.ศ. 2014 แล้วว่า จีนเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ"