Your browser doesn’t support HTML5
หน่วยงาน ESCAP ของสหประชาชาติที่รับผิดชอบเรื่องสังคมและเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิก ออกรายงานฉบับใหม่ซึ่งเตือนถึงสิ่งท้าทายทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่มาจากการพึ่งพาการเติบโตของจีนมากเกินไป
ESCAP กล่าวว่าความร่วมมือกันของกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้กรอบ AEC อาจประสบปัญหาในการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจของจีน เพราะขณะนี้การขยายตัวของจีนไม่รวดเร็วเท่าในอดีต
Shamshad Akhtar รองเลขาธิการใหญ่ของ ESCAP กล่าวว่าการพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอาเซียน
รายงานของ ESCAP ประเมินว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนปีที่แล้วน่าจะขยายตัวประมาณ 4.3% ชะลอลงจาก 5% ในช่วงปี พ.ศ.2554 ถึง พ.ศ. 2556
ขนาดเศรษฐกิจของจีนคิดเป็นร้อยละ 40 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแปซิฟิก และการที่จีดีพีของจีนอ่อนแรงลงส่งผลทางลบที่ชัดเจนต่อประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่ขายสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ให้กับจีน
Shamshad Akhtar กล่าวว่าด้วยว่าประเทศเช่น ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่พึ่งพาจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเดินหน้ากระจายความเสี่ยงสำหรับแผนในอนาคต
ทั้งนี้จีนเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกจากไทยและสิงคโปร์ และใหญ่เป็นอันดับสองสำหรับสินค้าจากเวียดนาม ส่วนการส่งสินค้าไปตลาดจีนสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของลาวและเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 20 ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
นอกจากความเสี่ยงที่มาจากจีน หน่วยงานของสหประชาชาติกล่าวด้วยว่าภายในอาเซียนมีความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนม่า และเวียดนาม หรือที่เรียกย่อๆว่า CLMV
นอกจากนั้นสัญญาณทางเศรษฐกิจล่าสุดชี้ด้วยว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ย่ำแย่ลงทั่วเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสหประชาชาติพบว่าประเด็นเรื่องอัตราการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มคนสาวเป็นหัวข้อที่น่ากังวลเป็นพิเศษ
นักวิเคราะห์ของ ESCAP พูดถึงการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ในมาเลเซียและไทย โดยชี้ว่าระดับหนี้ต่อรายได้ของประชาชนโดยรวมอยู่ที่ 27% แต่หากเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ระดับหนี้สูงถึงร้อยละ 50 ของรายได้ โดยการจัดเก็บตัวเลขดังกล่าวอยู่ในช่วงสามปีก่อน
Shamshad Akhtar รองเลขาธิการใหญ่ของ ESCAP กล่าวว่าหนี้ภาคเอกชนในมาเลเซียและไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง หากดูภาคครัวเรือนและภาคบริษัทเอกชน และควรมีการสร้างความมั่นคงให้กับการจัดการกับระดับหนี้
เธอบอกว่าหากไม่สามารถจัดการกับระดับหนี้ที่สูงขึ้นได้ ประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายมากขึ้นในการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ
รองเลขาธิการ ESCAP ผู้นี้เคยเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของปากีสถาน เธอเตือนว่าประเทศในอาเซียนไม่ควรแข่งกันดึงดูดเงินทุนต่างประเทศด้วยการเสนอสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ
Shamshad Akhtar บอกว่าสิ่งที่อาเซียนควรทำคือการสร้างเสถียรภาพ และการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเกินอาจจะสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
เพราะแนวทางนี้อาจนำมาซึ่งการดึงดูดทรัพยากรที่ไม่เหมาะเจาะลงตัวกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจและจุดแข็งที่แท้จริงของประเทศ
(รายงานโดย Ron Corben เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)